(เพิ่มเติม) IRPC เล็งปิดดีล M&A ธุรกิจปลายน้ำชัดเจนครึ่งปีหลัง,ประกาศเป้าหมาย Net Zero

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 8, 2022 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาควบรวมกิจการ (M&A) ธุรกิจในประเทศ 1 ราย เพื่อต่อยอดธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) หวังเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางด้านโพลิเมอร์ของบริษัท คาดชัดเจนภายในครึ่งปีหลังนี้

บริษัทคาดว่าจะใช้งบลงทุนทั้งหมดในปีนี้ราว 6,000-7,000 ล้านบาท เพื่อรองรับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project : UCF), การทำ M&A ในครึ่งปีหลัง และปรับปรุงประสิทธิภาพกำลังการผลิตของโรงกลั่นและปิโตรเคมี

สำหรับทิศทางผลประกอบการปีนี้ บริษัทมั่นใจว่ายังมีกำไรจากสต็อกน้ำมันหลังจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นทำสิถิติสูงสุดในไตรมาส 2/65 แม้จะปรับตัวลงในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 105 เหรียญฯ/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากำไรสุทธิปีนี้จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 14,504.62 ล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกมีกำไรเพียง 5,334.13 ล้านบาท และคาดแนวโน้มครึ่งปีหลังนี้น่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากในไตรมาส 4/65 จะมีการปิดปรับปรุงโรงกลั่น 2 แห่ง ทำให้กำลังการผลิตจะหายไปบางส่วน แต่อก่อนการปิดซ่อมดังกล่าว ทางบริษัทฯ จะเร่งเครื่องผลิตให้เต็มกำลังเพื่อสำรองไว้รองรับช่วงเวลาที่ต้องปิดซ่อม เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพ

ด้านธุรกิจปิโตรเคมี เบื้องต้นบริษัทฯ มีแผนจะปิดซ่อมบำรุงหน่วยผลิตปิโตรเคมีภัณฑ์เพิ่มเติมช่วงต้นปี 66

ขณะที่วันนี้ นายชวลิต เปิดเผยว่า IRPC ได้ตั้งเป้าหมายสู่องค์กร Net Zero Emission ในปี 2060 โดยตั้งเป้าสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030 จากปีฐาน 2018

ที่ผ่านมา IRPC มีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่ Net Zero Company ผ่านการดำเนินการด้วยกลยุทธ์ ERA ดังนี้

1. Eco-operation & technology การปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในบริษัทฯ ลดการใช้พลังงานผ่านการกำหนดเป้าหมายโดยใช้ดัชนีชี้วัดการใช้พลังงาน (Energy Intensity Index: EII) และเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดทดแทน พร้อมทั้งกำลังดำเนินการศึกษาการใช้พลังงานทางเลือก โดยการลงทุนในโครงการ Solar Rooftop และ โครงการ Solar Farm เพื่อใช้สำหรับกระบวนการผลิตในโรงงานต่อไปในอนาคต

IRPC ประสบความสำเร็จจากการสร้างสวนโซลาร์ลอยน้ำในบ่อน้ำดิบสำรองพื้นที่รวมกว่า 200 ไร่ ซึ่งได้บูรณาการคุณค่าในเชิงการดำเนินธุรกิจที่เสริมความมั่นคงทางด้านพลังงาน และในด้านสิ่งแวดล้อม โดยช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 9,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้บนเกาะเสม็ดทั้งเกาะ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่

นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project: UCF) ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 และเป็นไปตามนโยบายของ IRPC ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นโรงงานสีเขียว (Eco Factory) โดยคาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2024 รวมถึงการแสวงหาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจใหม่ๆ ที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ

2. Reshape portfolio มุ่งแสวงหานวัตกรรมที่ส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนต่ำ ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ

3. Absorption and offset โดยได้ดำเนินการร่วมกับกลุ่ม ปตท. 2 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการปลูกป่า เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือ CCS Hub Model

ทั้งนี้ CCS เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้ในระดับหลายล้านตันต่อปีและนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพและเหมาะสมแบบปลอดภัยและถาวร (Permanent Geological Storage) โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีก โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลสู่ระดับประเทศได้ในอนาคต

นอกจากนี้ได้สร้างการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืน 3C ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การบริหารจัดการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การสร้างคุณค่าเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน (Creating Shared Value) และIRPC ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการ "Decarbonize Thailand Startup Sandbox" เพื่อสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนการแสวงหาธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-Curve) เกี่ยวกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจพร้อมมุ่งไปสู่ Net Zero Emission


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ