BTSC ยืนยันเสนอราคาประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถูกกว่ารายอื่นทำได้จริง

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday September 17, 2022 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชี้แจงว่า ตามที่บริษัทฯ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของบริษัทฯ และพันธมิตรที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อปี 2563 โดยขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธาคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) จำนวนรวม 79,820.40 ล้านบาท และจ่ายเงินตอบแทนให้ รฟม.คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) จำนวนรวม 70,144.98 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทฯ และพันธมิตรจึงขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐ จำนวนรวมเพียง 9,676 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ย.65 รฟม.ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์โดยระบุว่า แม้ BTSC จะนำข้อมูลด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เพราะไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิคจะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริง และยังตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขดังกล่าวของ BTSC มีความแตกต่างจากผลการศึกษาที่ รฟม.นำเสนอขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรีไว้เป็นจำนวนมาก เพราะผลการศึกษาก็ได้ใช้สมมติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นสมมติฐานที่น่าเชื่อถือ และใช้ในทุกโครงการของ รฟม. อีกทั้งยังยืนยันว่าการประมูลโครงการนี้มีลักษณะเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วม

บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า เหตุที่ต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพราะเห็นว่าการประมูลนี้ไม่สุจริต ชี้ให้เห็นพฤติการณ์ต่างๆ ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่โปร่งใส และกีดกัน โดยบริษัทฯ ต้องการเห็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการประมูลที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. เคยจัดการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมาแล้วในปี 2563 ต่อมาเมื่อเอกชนได้ซื้อซองข้อเสนอแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน จนทำให้บริษัทฯ ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีแรก และเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับไม่ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้เอกสารการคัดเลือกเอกชนที่แก้ไขดังกล่าว

แทนที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะปฏิบัติตามคำสั่งศาล กลับมีมติยกเลิกการประมูลในครั้งดังกล่าว และเปิดประมูลโครงการครั้งใหม่เมื่อกลางปี 2565 โดยปรับเปลี่ยนคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้มีสิทธิเข้ายื่นข้อเสนอให้แตกต่างไปจากเดิม จนทำให้บริษัทฯ และพันธมิตร ซึ่งเป็นเอกชนที่เคยมีคุณสมบัติและสามารถเข้าประมูลได้ในครั้งที่ผ่านมา กลับไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งนี้ได้ ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและยังอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใด ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และคำพิพากษาศาลปกครอง บริษัทฯ จึงฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอนประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารการคัดเลือกเอกชนฉบับใหม่ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

ทั้งนี้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจนจนปราศจากข้อสงสัยว่า ข้อเสนอของบริษัทฯ และพันธมิตรเป็นข้อเสนอที่ทำให้ภาครัฐสามารถประหยัดเงินลงทุนและไม่เป็นภาระทางการคลังของประเทศเกินจำเป็น และ/หรือได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก และเป็นข้อเสนอที่ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐในภาพรวมอยู่ในระดับที่เหมาะสม และช่วยลดผลกระทบต่อการจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต

"บริษัทฯ และพันธมิตร ขอยืนยันว่า ตัวเลขตามข้อเสนอดังกล่าว เป็นข้อเสนอที่ทำได้จริง เนื่องจากบริษัทฯ และพันธมิตรมีประสบการณ์ยาวนานและประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการให้บริการเดินรถไฟฟ้ามาโดยตลอด และมั่นใจว่าผลประโยชน์ที่ภาครัฐได้รับจะสูงกว่าของเอกชนที่ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 ราย จำนวนหลายหมื่นล้านบาท" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

บริษัทฯ ตั้งข้อสังเกตว่าในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แท้จริงแล้วไม่ได้มีการเปิดกว้างแบบที่ รฟม.กล่าวอ้าง เนื่องจากเอกชนที่ยื่นข้อเสนอจำนวน 2 รายนั้น มีเอกชน 1 รายที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้เข้าร่วมและ/หรือได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนได้ ขณะที่เอกชนที่เหลืออยู่อีก 1 รายคือ เอกชนที่ รฟม.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 2 นั่นเอง แต่แม้กระนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ก็ยังเดินหน้าพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิคของเอกชนที่ขาดคุณสมบัติดังกล่าว และหลังจากที่ใช้เวลาพิจารณาเพียงประมาณ 1 สัปดาห์ (ซึ่งน่าจะเป็นการพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิคที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การประมูลโครงการร่วมลงทุนที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้) คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ก็ยังให้เอกชนรายที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติและด้านเทคนิคโดยไม่สนใจข้อทักท้วงใดๆ อันเป็นการกระทำที่ผิดปกติอย่างยิ่ง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาพฤติกรรมที่ผ่านมาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก (ซึ่งไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว) การยกเลิกการประมูล การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นประมูลครั้งใหม่ให้แตกต่างไปจากเดิม การเปิดเผยตัวเลขข้อเสนอของบริษัทฯ จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ยืนยันได้ว่าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องมีเจตนาที่ไม่สุจริตอย่างชัดเจน เพราะหากไม่กำหนดเงื่อนไขที่เป็นการกีดกัน บริษัทฯ และพันธมิตรผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ จะสามารถประหยัดงบประมาณของรัฐบาลได้หลายหมื่นล้านบาท จึงเป็นคำถามว่า หาก รฟม.ประกาศให้ผู้ชนะการประมูลเป็นไปตามตัวเลขที่ปรากฎ ใครจะรับผิดชอบวงเงินงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทที่รัฐบาลต้องสูญเสียไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ