IPOInsight: BTG ระดมทุนเร่งโตพร้อมเสิร์ฟนวัตกรรมอาหารพรีเมียมสู่สากล

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 7, 2022 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้กับแผนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ของยักษ์ใหญ่อีกราย ซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุน อย่าง บมจ.เบทาโกร (BTG) บริษัทชั้นนำด้านธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร หลังจากเคาะราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 434,800,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 40 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท

การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้กำหนดราคาเสนอขายที่ 40 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ประมาณ 21.2 เท่า แต่หากมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จะคิดเป็นะ P/E ประมาณ 21.9 เท่า ซึ่งบริษัทได้เปรียบเทียบ P/E กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3 บริษัทที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน ได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) อยู่ที่ 25 เท่า, บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) 32.8 เท่า และ บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) 27.3 เท่า

*เปิดประสบการณ์ 55 ปี ผู้เล่นแบรนด์พรีเมียมยุคแรกวงการอาหารประเทศไทย

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BTG เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องกว่า 55 ปี จุดตั้งต้นมาจากธุรกิจอาหารสัตว์ เนื่องจากในอดีตประเทศไทยมีสัดส่วนการบริโภคโปรตีนที่ไม่สูงมากนัก จึงทำให้บริษัทเห็นโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีอยู่อีกมากในระบบอาหารของประเทศไทย

ปัจจุบันธุรกิจของ BTG แบ่งเป็น 4 ด้านหลัก ซึ่งธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด คือ ธุรกิจอาหารและโปรตีน ธุรกิจที่สอง คือ ธุรกิจเกษตร ธุรกิจที่สาม คือ ธุรกิจการลงทุนในต่างประเทศ อย่าง กัมพูชา ลาว และเมียนมา และ ธุรกิจที่สี่ คือ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโตที่ดี

"วิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจของเรา คือเราเชื่อว่าประชาชนต้องมีทางเลือกที่จะเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพสูงและมีความปลอดภัย เพราะว่ามันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการทำงานของเรา ซึ่งเราก็เน้นการใช้ข้อมูลกับการนำนวัตกรรมมาพัฒนาอาหารให้มีความปลอดภัยมากกว่าและมีคุณภาพที่ดีกว่าอย่างต่อเนื่อง" นายวสิษฐกล่าว

นายวสิษฐ กล่าวอีกว่า BTG เน้นการสร้างแบรนด์พรีเมียม ซึ่งเข้าไปเล่นแบรนด์ระดับนี้ตั้งแต่ยุคแรก ๆ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องถือว่าเราจัดการแบรนด์พรีเมียมสูงได้ดี อาทิ แบรนด์ S-Pure ในธุรกิจอาหารสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อนามัย เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารแปรรูป, แบรนด์ ITOHAM สำหรับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเกรดพรีเมียม

หรืออย่างแบรนด์ Betagro, Balance และ Master สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่ามีประสิทธิภาพที่ดีและมีคุณภาพตามมาตรฐานสม่ำเสมอ และแบรนด์ในธุรกิจใหม่อย่างอาหารสัตว์เลี้ยง คือ Perfecta, DOG n joy และ CAT n joy อีกด้วย

*เจาะลึก 6 ช่องทางจำหน่าย เสิร์ฟถึงมือลูกค้าทั่วโลก

นอกจากการมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งแล้ว BTG ยังบริหารช่องทางจัดจำหน่ายในธุรกิจอาหารและโปรตีน ซึ่งนับเป็นธุรกิจหลักอย่างสมดุล โดยมีทั้งหมด 6 ช่องทาง ประกอบไปด้วย

1) กลุ่มการส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางที่บริษัทมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ส่งออกไปมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป รวมไปถึงอเมริกาเหนืออย่าง แคนาดา

2) กลุ่ม Modern Trade ที่มีมาอย่างยาวนานเช่นกัน โดยเป็นพันธมิตรกับ Super Market และ Modern Trade รายใหญ่ของประเทศ เข้าถึงผู้บริโภคได้จำนวนมาก

3) กลุ่ม Food Service ผู้ให้บริการด้านอาหารรายใหญ่ของประเทศ อาทิ MINOR, M, Central Food Retail หรือ OISHI เป็นต้น

4) กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมทางด้านอาหารรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการบริโภคหรือเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ก็เป็นลูกค้าของบริษัทจำนวนมาก

5) กลุ่ม Traditional Trade ซึ่งจะประกอบไปด้วยตลาดสดและกลุ่มที่เป็นเอเยนต์หรือโบรคเกอร์ที่มาซื้อสินค้า โดยเฉพาะกลุ่ม By Product เพื่อไปใช้ในธุรกิจอื่นเป็นต้น

และ 6) กลุ่ม Own Chanel จำหน่ายผ่านช่องทางของบริษัทหลากหลายช่องทางทั่วประเทศไทย ได้แก่ สาขาเบทาโกร ซึ่งเป็นสำนักงานขายและจัดจำหน่ายทั่วประเทศของบริษัท, ร้านเบทาโกรช็อป (Betagro Shop) เครือข่ายร้านค้าส่งทั่วประเทศที่เน้นลูกค้ากลุ่ม B2B, ร้านเบทาโกรเดลี (Betagro Deli) ร้านค้าสะดวกซื้อที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทสำหรับลูกค้ากลุ่ม B2C เน้นอาหารพร้อมทานและพร้อมปรุง รวมถึงร้านเนื้อสัตว์อนามัยซึ่งดำเนินการโดยบุคคลภายนอกสำหรับลูกค้ากลุ่ม B2C เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีมีสาขาเบทาโกร 5 สาขาในประเทศกัมพูชา และ ร้านเบทาโกรช็อป 5 แห่งในประเทศลาวอีกด้วย

*ไม่ใช่แค่พาร์ทเนอร์ แต่คือการสร้าง Ecosystem

นายวศิษฐ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 55 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญคือเรื่องของการสร้าง Partnership หรือที่ในปัจจุบันนิยมเรียกกันว่าการสร้าง Ecosystem ในวงจรการผลิตอาหาร ซึ่งบริษัทจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าและลูกค้าตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

"ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าเกษตรกรในช่วงต้นน้ำ เราก็จะไปสร้างการเติบโตในเชิงเกษตรอย่างยั่งยืน มันเป็นเรื่องของการที่เราจะต้องร่วมกันให้ความรู้เขา ในเรื่องของประสิทธิภาพการผลิต ความปลอดภัยของอาหาร การจัดการและสุขอนามัยในฟาร์ม ทำให้เขามีวิวัฒนาการเรื่องการจัดการฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราดำเนินงานผ่านกลยุทธ์ Agro Total Service & Solution ทำให้เราทำงานกับเขาได้อย่างแข็งแรงมาโดยตลอด" นายวสิษฐกล่าว

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศก็เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่แค่การจัดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีทีมที่เรียกว่า Food Service Solution ที่ BTG จะเข้าไปทำงานร่วมกับลูกค้า ช่วยกันพัฒนาธุรกิจร้านอาหารให้มีการเติบโตและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ร้านหมูทอดเจ๊จง หรือ แบรนด์ VT แหนมเนือง เป็นต้น

สำหรับในช่องทาง Modern Trade ทางบริษัทได้เข้าไปเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น อาทิ Butcher Operation ที่ทางบริษัทต้องการเป็นผู้นำการตัดแต่งเนื้อสัตว์ในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือ สินค้าไข่ไก่คุณภาพสูงแบรนด์ S-Pure ซึ่งผ่านการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานญี่ปุ่น เป็นต้น

"นวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า เบทาโกรคือผู้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหารให้ดีขึ้นตลอดมา"นายวศิษฐ กล่าว

*ทิศทางอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร หลังพ้นยุคโควิด-19

นายวสิษฐ กล่าวว่า ธุรกิจของ BTG เติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้จะเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่ในปี 63 ก็ยังสามารถทำกำไรสุทธิสูงถึง 2,341 ล้านบาท เติบโตจากปี 62 ที่มีกำไร 1,267 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตจากการบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้องยอมรับว่าในปี 63 ดีมานด์จากในประเทศและต่างประเทศหดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางจัดจำหน่ายให้กลุ่ม Food Services ที่ลดลงเป็นอย่างมาก แต่ทางบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนไปจำหน่ายที่ช่องทาง Modern Trade ได้แทน ซึ่งเป็นช่องทางที่ยังมีดีมานด์เข้ามามากในช่วงนั้น

แต่ในปี 64 ต้องยอมรับว่าผลประกอบการอาจมีสะดุดจากโควิด-19 อยู่บ้าง เพราะช่วงครึ่งหลังของปีมีการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องสั่งหยุดโรงงานตามนโยบายของภาครัฐ อย่างไรก็ตามในปี 65 การแพร่ระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากการเปิดประเทศในหลาย ๆ ภูมิภาค โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่น ประกอบกับ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ยิ่งทำให้ดีมานด์อาหารเพิ่มสูงขึ้นมาก

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว และมีการต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ก็ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรในปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นจากปีก่อน โดยกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกของปี 65 อยู่ที่ 3,892 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 1,168 ล้านบาท

นอกจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเผชิญคือเรื่องของราคาวัตถุดิบที่ผันผวนตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วมาจนถึงต้นปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจาก โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever: ASF) ที่ทำให้ระดับการ Supply สุกรในประเทศไทยลดลง ทำให้ราคาของสุกรเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังเผชิญปัญหาราคา Raw Material ทั่วโลกที่ปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งรวมถึงสินค้า Soft Commodity อย่าง กากถั่วเหลือง ข้าวโพด ก็ทำให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

"การที่ต้นทุนอาหารสัตว์มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสัตว์เป็นในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจาก Supply ที่น้อยลง ก็เลยทำให้ดัชนีราคาสัตว์เป็นบ้านเราสูงขึ้น เหมือนกับว่าตอนนี้มันอยู่ในช่วงขาขึ้นของทั้งต้นทุนและราคาขาย แต่แนวโน้มของช่วงที่เหลือของปีเป็นต้นไป ถ้าต้นทุน Raw Material อ่อนตัวลงเล็กน้อย เราก็อาจจะเห็นราคาปศุสัตว์ในบางกลุ่มก็จะปรับลดลงตามไปด้วย" นายวสิษฐ กล่าว

นายวสิษฐกล่าวอีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก BTG เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้มีความสามารถที่จะจัดซื้อสินค้าและจัดเก็บสต็อคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและมีช่องทางจัดจำหน่ายที่สมดุล ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้อยกว่าผู้เล่นรายอื่น

*เข้าตลาดฯ เดินหน้าพัฒนานวัตกรรม ตอกย้ำความเป็นพรีเมียมแบรนด์

การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ BTG มีวัตถุประสงค์จะใช้เงินเพื่อเข้าซื้อและหรือก่อสร้างฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ราว 8,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงโรงงาน ฟาร์ม รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตของบริษัท และใช้เพื่อชำระหนี้สินระยะสั้น/ระยะยาว แก่สถาบันการเงินประมาณ 8,960-10,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1,021 ล้านบาทจะใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท

นายวสิษฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมีแผนชัดเจนในการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยจะเน้นเรื่อง Automation กับ Digital Transformation เป็นหลัก ขณะที่การลงทุนอีกส่วนหนึ่ง คือ การลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งจะใช้ศูนย์ Research and Development (R&D) ทั้ง 4 แห่ง ประกอบไปด้วย 1) ศูนย์วิจัยและพัฒนา Research and Development Center หรือ RDC 2) ศูนย์นวัตกรรมการเกษตร Agro Innovation Center หรือ AIC 3) ศูนย์นวัตกรรมอาหาร Food Innovation Center หรือ FIC และ 4) ศูนย์นวัตกรรมสัตว์เลี้ยง Pet Innovation Center หรือ PIC เพื่อพัฒนาให้สินค้าของบริษัทมีมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น

สำหรับแผนธุรกิจในอนาคต บริษัทมีความพร้อมที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจต้นน้ำ ก็วางแผนจะลงทุนโรงงานทางด้านอาหารสัตว์มากขึ้น เพราะว่าความต้องการบริโภคโปรตีนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจอาหารและโปรตีน บริษัทวางแผนจะลงทุนธุรกิจที่เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างกลุ่มฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่จะทำให้ได้ผลผลิตออกมามากขึ้น ตามมาด้วยการขยายการลงทุนในโรงงานผลิตแห่งใหม่และการปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่เดิม อาทิ โรงงานตัดแต่งเนื้อสัตว์ โรงงานอาหารแปรรูป (Processed Food) เช่น อาหารพร้อมทานอย่าง Ready to Eat, Ready to Cook รวมถึงโรงงานเนื้อสัตว์แปรรูป (Processed Meat) เช่น ไส้กรอก แฮม เป็นต้น

"เรื่องของทิศทางในอนาคต เรายังให้ความสำคัญกับโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Plant Based Protein ซึ่งก็นับว่ามีการแข่งขันและผู้ประกอบการเข้ามาในเทรนด์นี้จำนวนมาก ทางบริษัทเองก็ได้เปิดตัวสินค้า Plant Based Protein ไปแล้วภายใต้แบรนด์ Meatly! จัดจำหน่ายอยู่ใน Supermarket และร้าน Food Services Premium ในกรุงเทพฯ และต้องบอกว่า Meatly! อยู่ในโครงการ Venture Building ที่ในอนาคตก็ยังมีโอกาสไปลงทุนใน Start Up ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย" นายวสิษฐ กล่าวเสริม

ส่วนการลงทุนเพิ่มเติมในต่างประเทศ บริษัทยังคงมีแผนชัดเจนที่จะลงทุนมากขึ้นในประเทศใกล้เคียงอย่าง กัมพูชา และลาว นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะกลับเข้าไปดูแลธุรกิจในเมียนมาได้มากขึ้น แต่ยังคงขึ้นอยู่กับภาวะการเมืองและโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านค่าเงิน ก็เป็นสิ่งที่บริษัทต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นกัน

รวมถึงธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ทางบริษัทมีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้นอีก แม้วันนี้อาจจะยังเป็นสัดส่วนรายได้ที่น้อย แต่ยังคงมองเห็นโอกาสที่สดใส ตามดีมานด์ของธุรกิจสัตว์เลี้ยงที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"แบรนด์ทางด้าน Pet food ใช้นวัตกรรมสูงมาก ซึ่งวันนี้ก็นับว่าเราประสบความสำเร็จกับ Pet Food หลาย ๆ ด้าน อย่างเช่นเราสามารถนำสินค้า Pet Food ไปจำหน่ายในตลาดที่เรียกได้ว่ามีศักยภาพสูงอย่างประเทศญี่ปุ่น เราพัฒนาสินค้าอย่าง อาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพราะฉะนั้นเราก็จะเน้นความพรีเมียมของสินค้าต่อไป ซึ่งเป็นทิศทางหลักของเบทาโกร" นายวสิษฐ กล่าว

https://youtu.be/xrgGpmJfEdc


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ