RS ลุยโครงการ RS NET ZERO ประเดิมออกกระเป๋าผ้ารีไซเคิล

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 26, 2022 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

RS ลุยโครงการ RS NET ZERO ประเดิมออกกระเป๋าผ้ารีไซเคิล

บมจ.อาร์เอส (RS) หรือ อาร์เอส กรุ๊ป เชื่อมั่นในความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อลดของเสียในการดำเนินธุรกิจ พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจและสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่พนักงาน จึงริเริ่มโครงการ #RSNETZERO ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสู่การลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ในองค์กร โดยหนึ่งในกิจกรรมใหญ่ที่ได้เริ่มต้นไปแล้ว คือ การแยกขยะขวดพลาสติกประเภท PET 1 ภายในองค์กรเพื่อนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล พร้อมใส่ไอเดียสร้างสรรค์ให้กับขยะพลาสติกเหล่านี้ จนเกิดเป็นกระเป๋า #RSNETZERO ที่ทำจากเส้นใยรีไซเคิล 100% จำหน่ายใบละ 350 บาท ในงาน RS MEETING CONCERT 2022 ที่ผ่านมา โดยนำรายได้ไม่หักค่าใช้จ่าย มอบสมทบทุนการทำงานให้กับโครงการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RS เผยว่า อาร์เอส กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับการทำงานด้านความยั่งยืนโดยใส่ใจและมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ

สำหรับแคมเปญ "RS Net Zero" เป็นโครงการที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงภายในปี 2568 ด้วยการชักชวนพนักงานในองค์กรให้เห็นความสำคัญของการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อน และเราหวังว่าการนำพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดจำนวนขยะพลาสติกที่หลุดลอยปะปนสู่ธรรมชาติ โดยเริ่มจากการแยกขวดพลาสติกที่พนักงานใช้ดื่มทุกวัน พร้อมใส่ไอเดียสร้างสรรค์ให้กับขยะพลาสติกเหล่านี้ จนเกิดเป็นกระเป๋า #RSNETZERO ที่ใช้เส้นใยพลาสติกที่สะสมจากการแยกขวดของชาวอาร์เอสมาตลอดทั้งปี โดยกระเป๋า 1 ใบ ผลิตจากขวดพลาสติกขนาด 600 มล.จำนวน 20 ขวด ในขณะที่การดีไซน์มาในธีม RS MEETING CONCERT 2022 ซึ่งรายได้จากการขายกระเป๋าโดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะมอบสมทบทุนการทำงานให้กับโครงการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก สถานีวิจัยอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ