BANPU คาดปริมาณขายถ่านหินโตรับดีมานด์จีนฟื้นแต่ราคาอาจย่อลง-ลุยซื้อโรงไฟฟ้าเพิ่มพุ่งเป้าแตะ 5 พัน MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 1, 2023 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายถ่านหินปี 66 จะอยู่ราว 42 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่อยู่ 40.5 ล้านบาท แบ่งเป็น ปริมาณการขายในประเทศอินโดนีเชีย ประมาณ 22.5 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 19.6 ล้านตัน, ออสเตรเลีย 8.8 ล้านตัน จากปีก่อน 8.5 ล้านตัน และ จีน 10 ล้านตัน ใกล้เคียงปีก่อน

ปัจจัยบวกมาจากประเทศจีนเปิดประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/66 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันรัฐบาลอินโดนีเซียยังมีการอนุมัติส่งออกถ่านหินโดยรวมเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้บริษัทฯ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตถ่านหินในปีนี้เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ราคาถ่านหินคาดว่าจะชะลอลงหลังจากขึ้นทำจุดสูงสุดในปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันปรับตัวลงมาค่อนข้างมากเฉลี่ยต่ำกว่า 200 เหรียญสหรัฐ/ตันแล้ว

ด้านปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติปีนี้คาดจะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ 280 พันล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่า เนื่องจากมีปริมาณซัพพลายในตลาดค่อนข้างสูง ทำให้คาดว่าการใช้กำลังการผลิตก็น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนด้วยที่ระดับ 800-900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ในปีนี้บริษัทยังคงเน้นการบริหารจัดการต้นทุนให้มีความยืดหยุ่น รองรับความผันผวนในตลาดที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านราคา ส่วนราคาตลาดที่มองในอนาคต คาดหวังไม่ค่อยได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และเรื่องของภาวะสงครามที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งมีผลต่อการลงทุนในอนาคต

นางสมฤดี กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจในปี 66-68 บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener&Smarter โดยวางแนวทางสำคัญสำหรับ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1.กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน สำหรับธุรกิจเหมือง เน้นประสิทธิภาพการผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าคุณภาพ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสูง เช่น แร่แห่งอนาคต (Strategic Minerals)

ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติคงความเป็นผู้นำในการผลิตก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ แสวงหาโอกาสใหม่ๆในธุรกิจที่ส่งเสริมและต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ และพัฒนาโครงการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน ดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก scope 1 และ 2 ภายในปี 68

2.กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน เพิ่มมูลค่าและรักษาประสิทธิภาพการผลิตในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้สามารถสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐ การซื้อขายไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรี มองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มในประเทศยุทธศาสตร์ที่บ้านปูดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว

3.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดในพอร์ตธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสด ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ส่งเสริมศักยภาพและการเติบโตซึ่งกันและกัน รวมถึงแสวงหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด จาก 47.68% เป็น 65.10% ด้วยเงินลงทุน 70 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการเชื่อมโยงระบบนิเวศที่แข็งแกร่งภายในกลุ่มบริษัทบ้านปู

ขณะที่บริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ไม่น้อยกว่าปีก่อนที่ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการลงทุนตามแผน โดยเฉพาะการลงทุนพลังงานเพื่ออนาคต ทั้งพลังงานหมุนเวียน การลงทุนใน Venture capital การลงทุนในธุรกิจก๊าซ เป็นต้น โดยแบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วน คือ 60% จะเน้นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และอื่นๆ และอีก 40% จะลงทุนใน Gas-based ในสหรัฐเป็นหลัก

ด้านนายกิรณ ลิมปพะยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าผลประกอบการปี 66 ยังเติบโตต่อเนื่อง ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อโรงไฟฟ้า HELE 2 โครงการ ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ใกล้กับ Temple I ที่ 800-1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุป 1 โครงการภายในไตรมาส 2/66

ขณะที่การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน บริษัทยังมีความสนใจในโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการในไทย จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ญี่ปุ่น คาดว่าจะช่วยหนุนกำลังการผลิตรวมให้เพิ่มขึ้น วางเป้าปีนี้ไว้กว่า 5,000 เมกะวัตต์ จากปี 65 อยู่ที่ 4,264 เมกะวัตต์

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ้านปู เน็กซ์ กล่าวว่า ในปี 68 บริษัทตั้งเป้าหมายในธุรกิจ Solar rooftops & Floating ที่ 500 เมกะวัตต์ ด้าน Battery & ESS Solutions ตั้งเป้ากำลังการผลิตแบตเตอรี่ Li-ion ที่ 3 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ส่วน SMART CITES & ENERGY MGMT จะมีทั้งสิ้น 30 โครงการ และธุรกิจการซื้อขายไฟจะมีเป้าหมายที่ 2,000 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ