ทริสฯ หั่นอันดับเครดิต EA เหลือ "A-" คงแนวโน้ม Stable หนี้พุ่งจากทุ่มลงทุน EV-แบตฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 24, 2023 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เป็นระดับ "A-" จากเดิมที่ระดับ "A" แต่ยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "A-" โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง "Stable" หรือ "คงที่"

การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงเนื่องจากบริษัทมีการก่อหนี้จำนวนมากเพื่อใช้ในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาระบบนิเวศของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัท

อันดับเครดิตที่ระดับ "A-" ยังคงสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แข็งแรงจากโรงไฟฟ้าของบริษัทซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความได้เปรียบในการแข่งขันในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทจากการเป็นผู้ประกอบการรายแรก รวมถึงบูรณาการทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "A-" ซึ่งเท่ากับอันดับเครดิตองค์กร ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 สัดส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทลดลงเหลือ 47% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 50% ที่ใช้ในการปรับลดอันดับเครดิตลง 1 ขั้นเพื่อสะท้อนความเสี่ยงด้านการด้อยสิทธิของหุ้นกู้ตามเกณฑ์การประเมินของทริสเรทติ้ง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • สถานะทางการเงินอ่อนแอลง

ภาระหนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 5.26 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 จาก 4.49 หมื่นล้านบาทในปีก่อนหน้า ในขณะที่ตัวชี้วัดทางด้านเครดิตของบริษัทก็อ่อนแอลง โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 5.0 เท่าในปี 2565 จาก 4.5 เท่าในปี 2564 รวมถึงอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิก็ลดลงเหลือ 16.9% จาก 18.9% ในช่วงเดียวกัน

สาเหตุดังกล่าวมาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้สนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่และรถบัสไฟฟ้าที่มากกว่าที่คาดไว้ รวมถึงการจัดหาสินเชื่อเช่าซื้อให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันซึ่งได้แก่ บริษัท ไทยสมายส์บัส จำกัด (TSB) บริษัทได้จำหน่ายรถบัสไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 1,077 คันในปี 2565 ที่มูลค่ารวมประมาณ 5.23 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้ให้สินเชื่อเช่าซื้อระยะเวลา 4 ปีแก่ TSB และลูกค้ารายอื่น ๆ รวมมูลค่า 4.8 พันล้านบาทในปี 2565 อีกด้วย

ทั้งนี้ การใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือ 782 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งต่ำกว่าระดับปกติที่ประมาณ 6-7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2561-2563

  • มีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า

กระแสเงินสดจำนวนมากและคาดการณ์ได้จากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนความแข็งแกร่งด้านเครดิตของบริษัทต่อไป โดยกระแสเงินสดที่แข็งแรงดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และ กฟภ. ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่อยู่ในระดับต่ำของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลมยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความมั่นคงในการสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) เป็นเวลา 10 ปีซึ่งสร้างกระแสเงินสดและอัตรากำไรที่ดีให้แก่บริษัทจนกว่าส่วนเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะหมดอายุลงอีกด้วย

บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 664 เมกะวัตต์ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จำนวน 4 แห่งที่มีกำลังการผลิตรวม 278 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังลม 2 แห่งที่มีกำลังการผลิตรวม 386 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทได้เริ่มดำเนินการผลิตเต็มปีมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งสร้าง EBITDA ในช่วงระหว่างปี 2562-2565 ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีให้แก่กลุ่ม

  • เป็นผู้ผลิตรายแรกในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

บริษัทเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเชิงพาณิชย์รายแรกในประเทศไทย โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของบริษัทนั้นเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคม 2564 โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของบริษัทซึ่งมีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) นั้นถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจของบริษัทมีบูรณาการในแนวตั้ง (Vertically Integrated) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเซลล์และชุดแบตเตอรี่ไปจนถึงการผลิตยานพาหนะประเภทต่าง ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็ก การที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 70% ใน Amita Technology Inc. จึงทำให้บริษัทมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบชาร์จเร็วรวมไปถึงการออกแบบและจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย

การเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยเน้นกลยุทธ์ไปที่รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้านั้นทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการเข้าถึงโอกาสในการเติบโตของการใช้รถไฟฟ้าในระบบขนส่งมวลชนและการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประโยชน์จากการแข่งขันที่อยู่ในระดับต่ำในตลาดที่เพิ่งเริ่มเติบโตและจากนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าและการผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศอีกด้วย โดยตัวอย่างเช่น การที่คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาทเพื่ออุดหนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศโดยเสนอเงินช่วยเหลือจำนวน 400-600 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงให้แก่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 8 กิกะวัตต์-ชั่วโมงและที่จำนวน 600-800 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงสำหรับกำลังการผลิตที่ 8 กิกะวัตต์-ชั่วโมงหรือมากกว่า โดยเงินอุดหนุนจำนวนนี้จะให้ตามลำดับก่อนหลัง (First Come First Serve) ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์โดยตรงต่อบริษัทซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่เข้าสู่ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่เป็นรายแรกในประเทศไทย

  • ลงทุนในธุรกิจรถบัสไฟฟ้าของประเทศไทย

บริษัทได้ประโยชน์จากอุปสงค์ในการใช้รถบัสไฟฟ้าในระยะแรก ๆ ของประเทศไทย โดยบริษัทย่อยของบริษัทคือ บริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง จำกัด (EMH) ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ บล.บียอนด์ (BYD) ในปี 2565 ปัจจุบัน EMH ได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ BYD ในสัดส่วน 23.63% ทั้งนี้ BYD ถือหุ้นทางอ้อมใน TSB และบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด (SMB) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเดินรถประจำทางรายใหญ่ซึ่งครอบคลุมเส้นทางเดินรถ 122 เส้นทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

การที่ EMH ได้ซื้อหุ้นสัดส่วนที่ใหญ่ของ BYD นั้นช่วยให้กลุ่มบริษัทได้รับคำสั่งซื้อรถบัสไฟฟ้าที่แน่นอนจาก TSB และ SMB เนื่องจาก TSB มีแผนจะจัดซื้อรถบัสไฟฟ้าจำนวนมากถึง 2,400 คันเพื่อรองรับการเดินรถบัสไฟฟ้าตามใบอนุญาตที่เพิ่งได้รับมาใหม่จาก ขสมก. ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์ที่สูงมากจากการจัดซื้อในครั้งนี้ เนื่องจากส่วนประกอบหลักของรถบัสไฟฟ้านั้นคาดว่าจะมาจากโรงงานแบตเตอรี่และโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการในกลุ่มของบริษัท

ถึงแม้ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับคำสั่งซื้อรถบัสไฟฟ้าที่แน่นอน แต่เราประเมินว่าความแข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังคงมีปัจจัยบั่นทอนด้วยประวัติผลงานที่จำกัดในการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าออกไปนอกกลุ่ม ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 1,160 คัน โดยในจำนวนนี้ประมาณ 990 คันเป็นรถบัสไฟฟ้าที่ส่งมอบให้แก่ TSB ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม การกระจุกตัวของรายได้ใน TSB ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากงบการเงินที่ยังคงอ่อนแอของ TSB ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทได้พยายามกระจายแหล่งรายได้และสำรวจตลาดใหม่ ๆ ให้มากขึ้นโดยผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็กและหัวจักรรถไฟฟ้า ตลอดจนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อจัดจำหน่ายรถบัสไฟฟ้าและการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาเลเซีย เป็นต้น

  • ความเสี่ยงในการดำเนินงานในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทยังคงเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องมากมายอันเป็นข้อจำกัดต่อสถานะเครดิตของบริษัท การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลกและผู้จำหน่ายแบตเตอรี่ที่ใหญ่กว่าได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่บริษัทมุ่งเน้นยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อาจช่วยลดความเสี่ยงนี้ลงได้เนื่องจากผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อาจมีเป้าหมายมุ่งไปที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลซึ่งมีขนาดใหญ่ก่อน ส่วนในด้านธุรกิจแบตเตอรี่นั้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในการผลิตแบตเตอรี่และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของวัตถุดิบ เช่น แร่ลิเธียมและนิกเกิล ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตและผลกำไรจากการผลิตแบตเตอรี่ที่ลดลง

การมีผลงานที่จำกัดทั้งในแง่ของการดำเนินงานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก็เป็นปัจจัยลดทอนที่สำคัญด้วยเช่นกัน ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความจำเป็นจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของแบตเตอรี่และการได้รับคำสั่งซื้อที่เพียงพอต่อการใช้กำลังการผลิตที่มีอย่างเต็มที่ให้ได้

  • การเพิ่มขึ้นของค่า Ft และยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าช่วยลดผลกระทบจากการหมดอายุของ Adder

ทริสเรทติ้งมองว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทยังคงเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดที่สำคัญของกลุ่ม โดยกระแสเงินสดรับจากธุรกิจไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2566 จากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เมื่อพิจารณาจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ประมาณ 1,300-1,400 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีแล้ว ค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น 0.50 บาทจะช่วยสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้ประมาณ 650-700 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน แรงกดดันจากการหมดอายุของ Adder จะเริ่มเกิดขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าจะส่งผลทำให้ EBITDA ของบริษัทลดลงประมาณ 1.1-1.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2569

แม้ว่าอุปสงค์ของยานยนต์ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ประวัติในการจำหน่ายยานยนต์ออกไปนอกกลุ่มที่มีจำกัดยังคงทำให้การคาดการณ์เกี่ยวกับการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานว่าบริษัทจะมียอดขายยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จำนวน 2,500 คันต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะส่งมอบรถบัสไฟฟ้าสำหรับคำสั่งซื้อเดิมของ TSB จำนวนประมาณ 1,400 คันได้ภายในปี 2566 นี้

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และหลังจากนั้นจะลดลงเป็น 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2568 นอกจากนี้ EBITDA Margin โดยเฉลี่ยคาดว่าจะลดลงเป็น 30% ในปี 2568 จากระดับ 40% ในปี 2565 เนื่องจากสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอาจมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้ถ้าหากบริษัทตัดสินใจจำหน่ายรถบัสไฟฟ้าให้แก่ SMB เพิ่มขึ้นอีก 1,000 คัน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดของรถบัสไฟฟ้าตามใบอนุญาตประกอบการของบริษัทที่เพิ่งได้มา

  • สัดส่วนหนี้สินทางการเงินที่สูงขึ้น

ในอนาคตข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังเพิ่มสูงขึ้นต่อไปจาก ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่จำนวน 5.26 หมื่นล้านบาทจากเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัท ทั้งนี้ งบลงทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 9.5 พันล้านบาทในปี 2566 เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ รวมทั้งเพื่อการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ และการปรับปรุงเปลี่ยนแผงโซลาร์ ทั้งนี้ การขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่จากขนาด 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมงเป็น 4 กิกะวัตต์-ชั่วโมงนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มการผลิตได้ในช่วงต้นปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสัญญาในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งใหม่ที่ขนาด 90 เมกะวัตต์ซึ่งก็น่าจะส่งผลทำให้บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นในปี 2567 ด้วยเช่นกัน

จากประมาณการของทริสเรทติ้ง ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับเกือบ 5 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิจะอยู่ในช่วง 10%-18%

  • สภาพคล่องอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้

แผนการใช้เงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งประกอบด้วยการชำระคืนเงินกู้ธนาคารและหุ้นกู้จำนวน 8.4 พันล้านบาท เพื่อการลงทุนอีกจำนวน 9.5 พันล้านบาท และการจ่ายเงินปันผลจำนวน 1.1 พันล้านบาท ในขณะที่แหล่งเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 1.37 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3.3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 และประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานที่จำนวน 1.07 หมื่นล้านบาทในปี 2566

ทั้งนี้ บริษัทเพิ่งออกหุ้นกู้มูลค่าจำนวน 7 พันล้านบาทในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมาและเพิ่งได้รับวงเงินกู้ยืมใหม่จากสถาบันการเงินอีกจำนวน 2 พันล้านบาทซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าแหล่งเงินทุนเหล่านี้จะสามารถช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

  • โครงสร้างเงินทุน

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 หนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทซึ่งไม่รวมหนี้สินจากสัญญาเช่าทางการเงินมีจำนวนทั้งสิ้น 5.1 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 47.1% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 50% ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันไม่มีความเสียเปรียบเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงกำหนดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัทให้อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% ต่อไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • รายได้จะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 3.1-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2568
  • EBITDA จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2568
  • ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจะอยู่ที่ 9.5 พันล้านบาทในปี 2566 และที่ประมาณ 4.5-5.0 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2567-2568
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่ากระแสเงินสดที่มั่นคงจำนวนมากของบริษัทจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นแหล่งกระแสเงินสดหลักให้แก่กลุ่ม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ในขณะที่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าน่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและมีฐานลูกค้าที่กว้างมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถลดภาระหนี้สินทางการเงินและ/หรือปรับปรุงผลกำไรจากธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อรักษาระดับกระแสเงินสดในปัจจุบันเอาไว้ได้ ทั้งนี้ การมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ที่ต่ำกว่า 3.5 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิที่สูงกว่า 20% นั้นจะถือได้ว่าเป็นพัฒนาการที่ดีซึ่งเหมาะสมต่อการปรับอันดับเครดิตในเชิงบวก

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งอาจจะปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดจากการลงทุนที่ใช้เงินกู้อย่างเกินตัวหรือการมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนจำนวนมากจากธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจผลิตแบตเตอรี่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ