HILITE: ZIGA ร่วง 15.65% หลัง "เหมืองบิทคอยน์" ฟ้องบอร์ดบ.ย่อยยักยอกร้อยล้าน-ผู้ให้เช่าเครื่องขุดเบี้ยว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 25, 2023 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ZIGA ราคาหุ้นร่วง 15.65% หรือลดลง 0.46 บาท มาที่ 2.48 บาท มูลค่าซื้อขาย 45.27 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.45 น.จากราคาเปิด 2.54 บาท ราคาขึ้นไปสูงสุด 2.62 บาท ราคาต่ำสุด 2.40 บาท

นายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA) ชี้แจงข้อซักถามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีกรณีบริษัท กรรมการ และบริษัทย่อย ถูกฟ้องร้องในคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายเหรียญโทเคนดิจิทัล และการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำให้บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานจากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญซึ่งส่วนหนึ่งมาจากข้อพิพาท

ในปี 2564 บริษัทจัดตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัด เพื่อประกอบกิจการขายธุรกิจแฟรนไชส์ และการทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล หลังจากคณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาและอนุมัติแผนธุรกิจและแผนการลงทุนของบริษัท (Business Plan) และงบประมาณประจำปี 2565 ซึ่งรวมถึงแผนการลงทุนในธุรกิจบิทคอยน์และแผนการลงทุนในธุรกิจ Utilities Token ด้วย

ซิก้า เอฟซี เสนอแนวทางดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามแผนที่ได้รับอนุมัติ โดยบริษัทต้องการเครื่องขุดจำนวนทั้งสิ้น 400 เครื่องจำนวนแรงขุดรวม 41,600 TH/sแบ่งเป็น ซิก้า เอฟซี ลงทุนเองจ 200 เครื่อง แรงขุดรวม 20,800 TH/s และ สัญญาเช่าเครื่องขุดบิทคอยน์ 2 สัญญา โดยแต่ละสัญญาจะมีเครื่องขุด 100 เครื่อง แรงขุด 10,400 TH/s รวมทั้งสิ้น 200 เครื่อง แรงขุดรวม 20,800 TH/s

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการบริษัท ซิก้า เอฟซี มีมติอนุมัติให้บริษัทลงทุนในธุรกิจการขุดเหมืองบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 103.10 ล้านบาท จำนวน 20,800 TH/s แต่เมื่อลงนามสัญญาแล้ว ซิก้า เอฟซี ได้ชำระค่าเช่าแรงขุดล่วงหน้าไปตามสัญญาทั้งสองฉบับ และบริษัทก็ได้ทวงถามให้ผู้ให้เช่าแรงขุดส่งเอกสารที่ยังขาดส่งแต่ทางผู้ให้เช่าแรงขุดก็เพิกเฉยไม่นำส่งให้บริษัท

นอกจากนั้น บริษัทได้จัดตั้งบริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ โทเคนดิจิทัล ซึ่ง วิสเดน กรุ๊ป ได้รับจ้างให้เป็นผู้ออกแบบและสร้างโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์แบบพร้อมใช้ ชื่อว่า Zii Token ให้กับ ซิก้า เอฟซี ต่อมาบริษัท ซิก้า เอฟซี จึงได้ ให้ วิสเดน กรุ๊ป ช่วยจำหน่ายโทเคนดิจิทัลนั้นด้วย โดยผู้ที่ซื้อและเป็นเจ้าของโทเคนดิจิทัล Zii Token

สำหรับกรณีที่บริษัท กรรมการ และ บริษัทย่อยถูกฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง เกี่ยวกับการซื้อขายเหรียญโทเคนดิจิทัล และกรณี วิสเดน กรุ๊ป ได้ฟ้องอดีตกรรมการบริษัทย่อยกับพวกในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ เนื่องจากไม่ส่งมอบเงินที่ได้จากการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล "Zii Token" มีที่มาจากนักลงทุนได้ซื้อโทเคนดิจิทัล Zii Token โดยชำระเป็นเงินสด 100 ล้านบาท ต่อมานักลงทุนได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ กรรมการ และบริษัทย่อยเป็นคดีแพ่ง (คดีผู้บริโภค) เพื่อเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืน อ้างว่ามีการปกปิดข้อความที่ควรบอกหรือแจ้งให้กับนักลงทุนทราบ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทย่อยได้ส่งมอบโทเคนดิจิทัลให้แก่นักลงทุนไปจนครบถ้วนแล้ว บริษัทฯกรรมการ และบริษัทย่อย จึงได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีตามสิทธิของตนต่อไป ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยและการพิจารณาคดีของศาลแพ่ง

ขณะที่ วิสเดน กรุ๊ป ได้ฟ้องอดีตกรรมการบริษัทย่อยกับพวกในคดีอาญาข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ มูลค่า 103.2 ล้านบาท โดยอดีตกรรมการและพวก มีพฤติการณ์รับเงินสดที่ได้จากการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล Zii Token ให้กับ ซิก้า เอฟซี ซึ่งได้มีการส่งมอบสินค้าหรือโทเคนดิจิทัล Zii Token ให้ผู้ซื้อครบถ้วนถูกต้องแล้ว แต่อดีตกรรมการและพวกได้ร่วมกันเบียดบังค่าตอบแทนจากการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล Zii Token นั้นไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่ส่งมอบค่าตอบแทนดังกล่าวให้แก่ วิสเดน กรุ๊ป อันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอาญา ธนบุรี

สำหรับการหยุดธุรกิจขุดเหรียญบิตคอยน์ชั่วคราว และการมีข้อพิพาทต่าง ๆ บริษัทยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ หรือไม่ทำให้ บริษัทมีภาระต่อเนื่องจากสัญญาว่าจ้างขุดเหรียญบิทคอยน์ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายสัญญาต่างตอบแทน เมื่อผู้ให้เช่าแรงขุดไม่ได้ขุดเหรียญและส่งมอบเหรียญให้แก่ ซิก้า เอฟซี ตามสัญญาจริง ซิก้า เอฟซี ย่อมมีสิทธิไม่ชำระหนี้ค่าไฟฟ้ารายเดือน หรือค่าใช้จ่ายอื่น หลังจากวันที่ผู้ให้เช่าแรงขุดผิดนัดหรือผิดสัญญา จนกว่าผู้ให้เช่าแรงขุดจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้

นอกจากนี้ การที่ผู้ให้เช่าแรงขุดผิดสัญญา หรือจงใจละเมิดต่อ ซิก้า เอฟซี เพราะไม่จัดหาเครื่องขุดบิทคอยน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายมาให้บริการอย่างครบถ้วนถูกต้องตามสัญญา บริษัท จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทั้ง 2 ฉบับได้ และมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง ต่อศาลเพื่อเรียกเงินค่าเช่าหรือค่าจ้างที่ชำระแล้วคืน พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหาย

ส่วนกรณีที่บริษัทย่อยหยุดขุดเหรียญบิทคอยน์ ชั่วคราวนั้นเป็นเพราะฝ่ายบริหารพิจารณาประโยชน์สูงสุดที่จะได้กับบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯแล้ว พิจารณาถึงความคุ้มค่า โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนหลักในการขุดเหรียญบิทคอยน์ ซึ่งหลังจากที่บริษัทย่อยได้หยุดขุดเหรียญบิทคอยน์ ก็ย่อมทำให้ภาระในการชำระค่าไฟฟ้ารายเดือนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ในปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อยไม่ได้มีหน้าที่หรือภาระที่จะต้องดำเนินการขุดเหรียญบิทคอยน์ กับบุคคลหรือนิติบุคคลใด ๆ จึงเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ฝ่ายเดียวของบริษัทย่อยที่จะตัดสินใจอย่างใดเกี่ยวกับธุรกิจ ขุดเหรียญบิทคอยน์ อนึ่ง บริษัทย่อยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนเกี่ยวกับธุรกิจขุดเหรียญบิทคอยน์ อื่นในประเด็นเกี่ยวกับข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากสัญญาเช่าบริการขุดเหรียญบิทคอยน์ นั้น ผู้ให้บริการเป็นผู้ผิดสัญญา ซึ่งทางบริษัทย่อยได้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ให้บริการเพื่อรักษาสิทธิแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ