DTCENT รุก B2C ผุดร้านประดับยนต์-ขยาย IoT Solution กลุ่มราชการในปท.-ตปท.จ่อลุยธุรกิจใหม่เพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 10, 2024 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทศพล คุณะเพิ่มศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ (DTCENT) เปิดเผยว่าบริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปี 67 โต 10-15% โดยคาดหวังยอดขาย 1.1 พันล้านบาท จากธุรกิจการให้บริการอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะ (GPS Tracking) ที่เป็นธุรกิจหลัก หรือมีสัดส่วนรายได้ราว 80-85% และการขยายรับงานราชการมากขึ้น รวมทั้งธุรกิจใหม่จากการเปิดร้านประดับยนต์

บริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปสู่ B2C (Business to Customer) มากขึ้น ผ่านการเปิดร้าน DTC Shop ซึ่งจะเป็นการให้บริการติดตั้งซ่อมบำรุงอุปกรณ์ประดับยนต์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ GPS Tracking ของบริษัท ปัจจุบันสินค้าประดับยนต์มีมูลค่าตลาดรวมปีละราว 1,000 ล้านบาทในปีแรกคาดหวังส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ประมาณ 5% และคาดว่า DTC Shop จะสร้างการเติบโตประมาณ 10% จากยอดขายรวมบริษัท

DTC Shop มีแผนขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศภายใน 3 ปี จากปัจจุบันมี 9 สาขา คาดว่าในปี 67 จะเปิดสาขาเพิ่มอีกราว 20 แห่งในหัวเมืองสำคัญด้วยงบลงทุนสาขาละ 3 แสนบาท การเปิดร้านดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่ให้บริการลูกค้า ซึ่งสาขาส่วนใหญ่จะเน้นภายในปั๊มน้ำมัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย สร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในการเข้ารับบริการ

นายทศพล กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนเข้าไปเสนองานให้กับหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ IoT Solution หรือ Smart City Solution เช่น เสาอัจฉริยะ, โมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับชุมชน ระบบป้องกันน้ำท่วม ให้กับเทศบาลต่างๆ ซึ่งในปี 66 บริษัทเข้าไปนำเสนองานกับหน่วยงานเทศบาล อาทิ การสร้างแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่นเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน นำร่องจากเทศบาลบางเสาธงและเทศบาลรังสิต กระแสตอบรับค่อนข้างดี

บริษัทเชื่อว่ายังมีโอกาสขยายธุรกิจอีกมาก เนื่องจากประเทศไทยมีเทศบาลกว่า 3,000 แห่งที่มีความต้องการใช้ระบบ IoT Solution ที่แตกต่างกัน ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนงานภาครัฐอยู่ประมาณ 10% ของยอดขายรวมทั้งหมด โดยหลังจากขยายงานราชการมากขึ้นก็คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

"เรามีความชำนาญในเรื่องของ AI อย่างมาก เรามีทีมงานวิศวกร AI อยู่หลายคนในบริษัท และ Solution AI เราไม่ได้ซื้อมาขายไป เป็นการพัฒนาโดยคนของเราเอง พอพัฒนาเอง การไปต่อยอดโครงการเล็ก โครงการใหญ่มันทำได้คล่องตัวได้มากขึ้น" นายทศพล กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรท้องถิ่นในกัมพูชา เพื่อนำผลิตภัณฑ์ IoT Solution เข้าไปขายให้กับหน่วยงานภาครัฐ และนำ GPS Tracking เข้าไปให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจในไตรมาส 3/67

ส่วนธุรกิจ GPS Tracking ยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องและมีความเสถียรในระดับหนึ่ง ล่าสุดบริษัทได้พัฒนา BAMS (Business Activity Management System) ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีติดตามการทำงานนอกสถานที่เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงาน โดยจะเตรียมให้บริการในปีนี้ และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็น New S-curve ให้กับบริษัทในอนาคต ทั้งนี้มูลค่าตลาดอุปกรณ์ GPS ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 34%

อีกทั้งยังมีบริการใหม่ คือ การรับจ้างมอนิเตอร์ข้อมูลให้กับลูกค้าบริษัทขนส่ง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำ Market Survey คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อเพิ่มรายได้ประจำให้เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ