IVL ประกาศกลยุทธ์ 2.0 เพิ่มกระแสเงินสด-ลดหนี้-ปรับปรุงการผลิต-ปลดล็อก value-ขายสินทรัพย์รอง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 4, 2024 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

IVL ประกาศกลยุทธ์ 2.0 เพิ่มกระแสเงินสด-ลดหนี้-ปรับปรุงการผลิต-ปลดล็อก value-ขายสินทรัพย์รอง

บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เปิดวิวัฒนาการสำคัญในกลยุทธ์ทางธุรกิจ พร้อมชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญที่กำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ สร้างโอกาสสำหรับบริษัทในการเพิ่มความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจากภาวะชะลอตัวในปัจจุบัน ตลอดจนได้รับประโยชน์จากโมเดลธุรกิจระดับโลกอันเป็นเอกลักษณ์ของบริษัทในระยะยาว

ก่อนงาน Capital Markets Day ของบริษัทที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม IVL ชี้ให้เห็นเมกะเทรนด์ของอุตสาหกรรมที่กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างพื้นฐานของตลาดเคมีภัณฑ์ทั่วโลกในระยะยาว ส่งผลให้มีการทบทวนกลยุทธ์ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

นายอาลก กล่าวว่า อุปสงค์ท้องถิ่นที่ลดลงในประเทศจีนมีส่วนในการผลักดันกำลังการผลิตส่วนเกิน และกระตุ้นให้เกิดการส่งออกราคาถูก ในขณะที่ราคาวัตถุดิบที่ลดลงในแถบอเมริกาเหนือกำลังมีอุปทานเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแข่งขันสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ปัจจัยอุปสรรคทางเศรษฐกิจมหภาคและภูมิรัฐศาสตร์กำลังส่งผลกระทบต่อการบริโภคทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งกระทบต่ออัตรากำไรและปริมาณขายของ IVL ในปี 66 และส่งผลให้รายได้ลดลงถึง 53%

ราคาวัตถุดิบในตลาดตะวันตกจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากความต้องการน้ำมันใกล้เข้าสู่จุดสูงสุด และโรงกลั่นต่างๆ ปิดตัวลง ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียจะประสบกับสถานการณ์ตรงกันข้าม เมื่อกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลง โมเดลธุรกิจแบบบูรณาการที่เป็นเอกลักษณ์ของ IVL ช่วยให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ลดลงผ่านกลยุทธ์ "สร้างหรือซื้อ" ซึ่งช่วยลดเงินทุนหมุนเวียนและดอกเบี้ยลง

เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาวะอุตสาหกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บริษัทฯ จึงได้กำหนดกลยุทธ์ใหม่เรียกว่า IVL 2.0 ซึ่งจะลดภาระการดำเนินธุรกิจในสภาพแวดล้อมอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นที่ยังคงยืดเยื้อ ขณะเดียวกันก็ปรับขนาดกำลังการผลิตให้เหมาะสมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า และจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเมื่ออุปสงค์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในระยะยาว

นอกจากนี้ IVL กำลังเร่งดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนองค์กรด้านต่างๆ (transformation programs) ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 64 ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องมือการจัดการข้อมูลใหม่ และแดชบอร์ดอัจฉริยะที่จะช่วยผู้บริหารที่มากประสบการณ์ของบริษัทให้สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดแบบเรียลไทม์ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในอุตสาหกรรมของเรา เราได้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบรุนแรงคล้ายคลึงกันนี้หลายครั้งตลอดระยะเวลา 30 ปีในการดำเนินธุรกิจของเรา ซึ่งทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม ในปี 66 เราตระหนักดีว่าระบบนิเวศทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป และสิ่งที่เคยใช้ได้ผลกับเราในอดีตจะไม่ได้ผลในอนาคต ดังนั้น เราจึงต้องกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจใหม่เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ โดยยกระดับจากความสำเร็จของโมเดลธุรกิจระดับโลกที่เราสร้างขึ้นในช่วงหลายทศวรรษ หลายเดือนที่ผ่านมานี้ แต่ละธุรกิจของเราได้รับการพิจารณาอย่างเข้มข้น ด้วยแผนการดำเนินงานอย่างละเอียดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสินทรัพย์ กระบวนการ และองค์กรของเรา โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพรายได้ในอีกสามปีข้างหน้า"นายอาลก กล่าว

ปัจจุบัน IVL มีฐานการผลิตทั่วโลก โดยเป็นผู้นำในตลาดที่ยั่งยืนและเติบโตยิ่งขึ้นภายหลังจากช่วงเวลาของการขยายธุรกิจจากการเข้าซื้อกิจการประมาณ 50 แห่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างโมเดลระดับโลกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งนี้ นายอาลกแสดงความมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวโน้มของผู้บริโภคในระดับมหภาค ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัยยิ่งขึ้น และมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของพวกเขาและพัฒนาสิ่งแวดล้อม

ภายใต้กลยุทธ์ IVL 2.0 บริษัทจะเพิ่มประสิทธิภาพของฐานการผลิตทั่วโลกของบริษัทอย่างเหมาะสม ปรับปรุงกระแสเงินสด และลดภาระหนี้ลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพรายได้ และเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวรวมถึงการลดหนี้สุทธิลงจำนวน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ให้เหลือประมาณ 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 69 ซึ่งรวมถึงการสร้างกระแสเงินสดจำนวน 0.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากการปรับปรุงการดำเนินงาน และอีกจำนวน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ขององค์กร ตลอดจนการถอนการลงทุน การดำเนินการด้านสินทรัพย์ และการจดทะเบียนธุรกิจต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยขั้นตอนเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ให้น้อยกว่า 3 เท่า

"กลยุทธ์ใหม่ของเราเป็นจุดเปลี่ยนทางการเงินที่สำคัญ ตอนนี้เรามีธุรกิจขนาดใหญ่ เราจะยกระดับฐานการผลิตทั่วโลกและความสัมพันธ์กับลูกค้าที่แข็งแกร่ง รวมถึงเพิ่มศักยภาพของต้นทุนเพื่อให้เราสามารถสร้างการเติบโตของผลกำไรที่ยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ เรายังลดภาระหนี้สินในงบดุล ซึ่งจะทำให้เรามีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการรักษาบริษัทของเราให้อยู่ในเส้นทางการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยยึดหลักวินัยด้านเงินทุนที่เข้มงวดและมาตรฐานการจัดการหนี้ระดับสากล"

วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 4 ประการจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในอีกสามปีข้างหน้า ประการแรก โครงการเพิ่มประสิทธิภาพของฐานการผลิตมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอัตราการดำเนินงานของบริษัทฯ จาก 74% เป็น 89% รวมถึงการย้ายไปยังโรงงานที่มีต้นทุนต่ำกว่าและกำลังการผลิตที่มีขนาดเหมาะสม

ประการที่สอง การเปิดตัวโครงการ Project Olympus 2.0 ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนของบริษัทฯ จะช่วยต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Olympus 1.0 เพื่อปลดล็อกประสิทธิภาพเพิ่มเติมอีกจำนวน 450 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ประการที่สาม การขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และกลยุทธ์การปลดล็อกมูลค่าอื่นๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายรับเงินสด จำนวนประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

และสุดท้าย บริษัทฯ กำลังยกระดับการเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมด้านความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนให้มูลค่าเพิ่มอีก 350 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ IOD (Integrated Oxides and Derivatives) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ล่าสุดในสามกลุ่มธุรกิจของอินโดรามา เวนเจอร์ส จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "อินโดวินยา" (Indovinya) เนื่องจากฝ่ายบริหารมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจขั้นปลายน้ำในตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลบ้านและเครื่องใช้ส่วนตัว (Home & Personal Care) โซลูชั่นเพื่อการเกษตร (Crop Solutions) โซลูชั่นเพื่อการเคลือบพื้นผิว (Coatings & Solutions) และผลิตภัณฑ์กลุ่มพลังงานและทรัพยกากร (Energy & Resources) โดยในส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน โรงงานในกลุ่มเคมีภัณฑ์กลางน้ำ ซึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิต PEO แบบบูรณาการ และโรงงานผลิต EG และ MTBE แบบบูรณาการจะย้ายไปอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจ Combined PET (CPET) ของอินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมความแข็งแกร่งให้กับการนำเสนอสินค้าแบบบูรณาการของกลุ่มธุรกิจ CPET

โดยมาตรการเชิงกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดขึ้นจากโครงการปรับเปลี่ยนองค์กรด้านต่างๆ ที่ขยายออกไปทุกพื้นที่การดำเนินงานของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 64 ตลอดจนกระบวนการสำคัญที่ดำเนินการในปี 66 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรักษากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน นอกจากนี้ ตลอดปีที่ผ่านมาโครงการ Olympus 1.0 สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มูลค่า 527 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ไตรมาส 1/67 การใช้งานระบบ SAP S/4HANA ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วจะช่วยปลดล็อกมูลค่าเพิ่มเติมในฐานะเสาหลักของกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลของบริษัทฯ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพของสินทรัพย์

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/66 บริษัทฯ ได้ระบุการด้อยค่าสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสดบางส่วนจำนวน 308 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของโรงงาน PTA-PET ที่เมืองคอร์ปัสคริสตี รัฐเท็กซัส ที่สร้างเสร็จแล้วบางส่วนแต่ถูกระงับไว้ในขณะที่พันธมิตรร่วมทุนกำลังประเมินการลงทุนในอนาคต โครงการวางแผนการถ่ายทอดตำแหน่งของผู้บริหารของ IVL ได้กำหนดผู้นำรุ่นต่อไป เนื่องจากกลุ่มธุรกิจทั้งสามของบริษัทฯ มุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ