"ทรีนีตี้" แจกคู่มือลงทุน Q2/67 รับความผันผวนหวนกลับมา ชู 5 ธีมคัด 10 หุ้นน่าลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 1, 2024 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.ทรีนีตี้ ประเมิน Q2/67 เริ่มเห็นสินทรัพย์แกว่งผันผวนมากขึ้น สภาพคล่องภายในประเทศผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วแม้จะยังไม่กลับมามากนัก แนะกลยุทธ์ Stock selection คัด 5 ธีม 10 หุ้นน่าลงทุน AOT, AWC, BH, BJC, STEC ,GLOBAL, STGT, XO, IVL และ SCGP ส่วนหุ้นรับหน้าร้อนเมษานี้ ICHI, SAPPE

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า SET Index ในไตรมาสนี้จะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นตามปัจจัยทางด้านทิศทางดอกเบี้ยนโยบายมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น การลดดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลาง และความคาดหวังของตลาดยังสามารถผันแปรได้ตลอดทั้งไตรมาส

สำหรับมุมมองของทรีนีตี้ คาด กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงแน่นอนในปีนี้ได้ราว 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 2.0% จึงได้มีการ Update สมมติฐานใหม่นี้เข้าไปใน Valuation Model เป็นผลทำให้ระดับ PE ที่เหมาะสมของ SET ในแต่ละกรณีขยายตัวได้ราว 6% มาอยู่ที่ 14.2x, 13.2x และ 12.3x ในกรณีดีสุด, กรณีฐาน และกรณีแย่สุดตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้ทำให้ระดับดัชนี SET ที่เหมาะสมของเราถูกปรับขึ้น เนื่องจากในรอบนี้ได้ปรับลดคาดการณ์ EPS ประจำปี 68 ลงจากเดิมที่ 113 บาท เหลือเป็น 107 บาท เพื่อให้เข้าใกล้กับคาดการณ์ของ Consensus ณ ปัจจุบันมากขึ้น ส่งผลให้สุทธิแล้วจะไว้ระดับดัชนี SET ที่เหมาะสมในแต่ละกรณีจะอยู่ที่ 1,520 1,415 และ 1,315 จุด ในกรณีดีสุด, กรณีฐาน และกรณีแย่สุด ตามลำดับ ซึ่งเป็นกรอบที่ใกล้เคียงกับที่เราให้ไว้ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

"การลดดอกเบี้ยของ ธปท.ที่อาจจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 นี้ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กำหนดทิศทางดัชนี SET รวมถึงการเคลื่อนไหวของ Sector ต่างๆ ได้ แต่การลดดอกเบี้ยที่ดีต่อภาพตลาดหุ้นไทย ควรจะต้องเป็นการลดดอกเบี้ยที่ไม่ได้สร้าง Surprise ให้กับตลาดมากนัก เพราะการลดแบบ Surprise อาจเป็นการชี้นำถึงความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ระดับที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น และยังเป็นการกดดัน Fund flow จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯที่จะกว้างขึ้นอีกครั้ง ไม่นับรวมกับการตีความโดยตลาดว่าการลดดอกเบี้ยนี้เกิดจากแรงกดดันจากทางภาคการเมือง ซึ่งในอดีตมักเป็นเหตุการณ์ที่นักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยชื่นชอบมากนัก" นายณัฐชาต กล่าว

สถิติในอดีตการปรับลดดอกเบี้ยของไทย 3 ครั้ง เมื่อ ปี 2550, 2554 และ 2562 มีผลกระทบต่อสินทรัพย์ต่างๆ ดังนี้ คือการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกของ Cycle นั้นนำมาสู่การปรับตัวขึ้นของ SET Index จริง โดยเฉพาะหากไม่รวมปี 2562 ซึ่งมีผลกระทบของเหตุการณ์ Covid-19 เกิดขึ้นหลังจากนั้น

ทั้งนี้ หากดูเป็นราย Sector จะพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มักปรับตัวโดดเด่นในช่วงก่อนหน้าลดดอกเบี้ยครั้งแรก ได้แก่ HELTH, COMM, ICT และ FOOD ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่ม Domestic play แทบทั้งสิ้น

ขณะที่กลุ่มที่มักจะปรับตัวได้ดีภายหลังการลดดอกเบี้ย ได้แก่ COMM, HELTH, ETRON, ICT, TRANS ซึ่งจะเห็นได้ว่ามี Sector ที่คาบเกี่ยวกันอยู่แล้วสามารถปรับตัว Outperform ได้ทั้ง 2 ช่วงก็คือ COMM, HELTH และ ICT ดังนั้น แนะนำให้นักลงทุนพยายามหาจังหวะสร้าง Exposure ไปยัง 3 Sector นี้เพื่อรองรับการเตรียมเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลงในช่วงถัดไป

นายณัฐชาต กล่าวว่า ด้วยมุมมองภาพรวมของ SET Index ในช่วงไตรมาสที่ 2 มีโอกาสที่จะแกว่งตัว Sideways ทำให้กลยุทธ์ Stock selection ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ โดยคัดเลือกธีมการลงทุนที่น่าสนใจมาทั้งสิ้น 5 ธีม ดังต่อไปนี้

1.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยว เลือก AOT ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกเพิ่มขึ้นจากมาตรการฟรีวีซ่าไทย-จีน และเลือก AWC ที่ยังคง Laggard ในกลุ่มโรงแรม และเริ่มเห็นการปรับประมาณการขึ้นในตลาด

2.หุ้นที่อิงกับอุปสงค์ภาคบริการในประเทศที่ยัคงเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง เลือก BH เป็นตัวแทนกลุ่มโรงพยาบาล และเลือก BJC ยัง Laggard กลุ่ม Consumer staple

3.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงถัดไป หลังพ.ร.บ.งบประมาณฉบับใหม่ถูกบังคับใช้เป็นผลสำเร็จในช่วงต้นไตรมาส 2 นี้ เลือก STEC เป็นตัวแทนของกลุ่มรับเหมาฯ และ GLOBAL เป็นตัวแทนของกลุ่มวัสดุก่อสร้าง

4. หุ้นกลุ่มส่งออกที่พบว่ามีสินค้าบางสินค้าที่ขยายตัวได้อย่างน่าสนใจ อาทิ ถุงมือยางและเครื่องปรุงรสอาหาร STGT และ XO

5.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เลือก IVL และ SCGP เป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีและบรรจุภัณฑ์ ที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนในระดับสูง

สำหรับการลงทุนในเดือน เม.ย.67 คาดตลาดหุ้นจะจะเคลื่อนไหวออกด้านข้างต่อไป ท่ามกลางวอลุ่มการซื้อขายที่เบาบางจากเทศกาลหยุดยาว แต่จะมีปัจจัยชี้ชะตาที่สำคัญคือการประชุมกนง.ที่รออยู่ในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งถ้าหากมีการลดดอกเบี้ย ประเมินจะเป็นปัจจัยลบต่อ Fund flow ค่าเงินบาท รวมถึงดัชนี SET ได้ ผ่านการปรับตัวกว้างขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ประเมินกรอบการแกว่งตัวของดัชนีเดือนนี้ที่ระดับ 1,350-1,410 จุด

กลยุทธ์ลงทุนเดือน เม.ย. แนะนำถือครองหุ้นในส่วนเดิมได้ต่อไป หลังจากที่ได้มีการเพิ่มน้ำหนักบางส่วนไปที่ระดับดัชนี SET 1,370 จุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.กลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง ตามความคาดหวังการเบิกจ่ายภาครัฐ อาทิ CK, STEC, GLOBAL DOHOME 2 .กลุ่ม Consumer staple ตามพัฒนาการของมาตรการ Digital Wallet อาทิ CPALL, CPAXT, BJC 3.กลุ่มเครื่องดื่ม ตามสภาวะอากาศที่เข้าสู่ช่วงร้อนจัด ได้แก่ ICHI, SAPPE 4.กลุ่มส่งออกที่เห็นการขยายตัวดี ได้แก่ AAI, ITC, STGT, TU, XO


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ