(เพิ่มเติม) ประธาน ตลท.ยอมรับปัจจัยซับไพร์ม-ปัญหาเงินเฟ้อยังกดดันตลาดหุ้นไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 9, 2008 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลงไปได้อีก เนื่องจากปัจจัยที่กดดันในขณะนี้มีทั้งในเรื่องของปัญหาซับไพร์มของสถาบันการเงินในต่างประเทศที่มีการปิดงบฯในครึ่งปีแรกจะมีผลกระทบความเสียหายมาก/น้อยแค่ไหน รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ จึงทำให้นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น 
แต่อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงของตลาดฯนับตั้งแต่ต้นปีนี้(2551)ที่ลงมาแล้ว 17-18% ซึ่งถือว่าน่าจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดเทียบเท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ที่ดัชนีได้ร่วงลงมาแรงจากผลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศใช้มาตรการสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30%
ส่วนปัญหาเรื่องการเมืองในตอนนี้คงจะยังไม่มีความชัดเจนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผลจากคดีใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ยังจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการในการพิจารณาอีกกว่าจะสรุปว่าคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)จะมีการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชนหรือไม่ จึงทำให้มองว่าเร็วเกินไปที่นักลงทุนจะมั่นใจแล้วเข้ามาลงทุนอย่างเต็มที่
"ปัจจัยหลักในตอนนี้ที่ทำให้ตลาดหุ้นเรายังคงผันผวนมาจากเรื่องปัญหาซับไพร์มที่มองว่ายังมีต่อ และอาจจะมากกว่าปีที่แล้ว(2550)รวมถึงความเป็นห่วงเรื่องเงินเฟ้อที่ขณะนี้เป็นปัจจัยที่หลายประเทศประสบอยู่ ซึ่งไทยก็ได้รับปัญหาดังกล่าวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรที่จะทำให้เกิดความชัดเจน เพราะตอนนี้คนไม่รู้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นหรือไม่ อันเนื่องมาจากปัญหาเงินเฟ้อ แต่หากไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คงจะอยู่เหนือความคาดหมาย"นายปกรณ์ กล่าว
ประธาน ตลท. กล่าวต่อว่า การเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาตินับตั้งแต่ต้นปีถึงวานนี้(8 ก.ค.)คิดเป็นการขายสุทธิ 6.2 หมื่นล้านบาทและนำเงินออกจากประเทศ เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 50 จะเป็นตัวเลขการซื้อสุทธิ 9.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งแรงขายของต่างชาติดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงมา 722 จุด จาก 884 จุด
"หากพิจารณาการขายของนักลงทุนต่างชาติในครั้งนี้ ถือว่าแตกต่างจากครั้งก่อน โดยครั้งนี้ได้นำเงินออกนอกประเทศไป ซึ่งเม็ดเงินลงทุนไม่ได้ถูกพักไว้ชั่วคราวที่ตลาดตราสารหนี้เหมือนแต่ก่อน ทำให้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เพราะต่างชาติได้เข้ามาเทรดหุ้นอยู่ประมาณ 60% ของจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายทั้งหมด แต่ตลาดฯคงจะต้องเร่งเพิ่มจำนวนกลุ่มนักลงทุนรายสถาบันและรายย่อย เพื่อไม่ให้ตลาดฯพึ่งพาแต่นักลงทุนต่างชาติเพียงอย่างเดียว"ประธานคณะกรรมการ ตลท.กล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลง ค่า P/E ก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 12.3 เท่า ขณะที่อัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยของตลาดฯ อยู่ที่ 4% และมีหุ้นที่มีสภาพคล่องหลายตัวที่ระดับราคาหุ้นได้ลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จึงน่าจะถือเป็นโอกาสของนักลงทุนในการเข้ามาเก็บเข้าพอร์ต
"เป็นเรื่องแปลกที่หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง ทั้ง ๆ ที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ซึ่งการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มพลังงาน คงเป็นเรื่องของนโยบายพลังงานที่มีความไม่ชัดเจน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องผลประโยชน์ของนักลงทุนที่ลงทุนหุ้นในกลุ่มพลังงานมากเท่าที่ควร เพราะปัจจุบันมีจำนวนนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานกว่าแสนคน และยังถือเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทย"นายปกรณ์ กล่าว
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า วันนี้(9 ก.ค.)ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้น่าจะเกิดจากผลที่ดัชนีหุ้นดาวโจนส์และฮั่งเส็งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันปรับตัวลงมา 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลแล้ว จึงทำให้ตลาดทั่วโลกปรับตัวขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยด้วย ส่วนเรื่องการเมืองก็มีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว จึงทำให้นักลงทุนบางส่วนกล้าที่จะกลับเข้ามาลงทุน แต่การเมืองก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ