(เพิ่มเติม) บอร์ดรฟท.มีมติอนุมัติ UNIQ ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 29, 2008 18:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)วันนี้มีมติอนุมัติว่าจ้างกลุ่มยูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ ซึ่งประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(UNIQ) และบริษัท CHUNWO CONSTRUCTION&ENGINEERING CO.,LTD ให้เป็นผู้ก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในวงเงิน 8.7 พันล้านบาท ตามที่ชนะการประกวดราคา
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการ รฟท. เปิดเผยว่า ผู้ชนะการประกวดราคาเสนอค่าก่อสร้าง 8,748.39 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 1 พันบาท โดยรฟท.จะเซ็นสัญญาว่าจ้างกลุ่มยูนิคฯ ภายในเดือน ต.ค.นี้ และคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือน พ.ย.51
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาผลประกวดราคาโครงการดังกล่าวโดยคณะกรรมการฯ ที่มีนายนคร จันทศร รองผู้ว่าการ รฟท.เป็นประธาน มีกรรมการ 2 ใน 5 คนไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ โดยให้เหตุผลว่าการเหลือผู้ประกวดราคาเพียงรายเดียว ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในการเสนอค่าก่อสร้าง จึงควรยกเลิกและเปิดประกวดราคาใหม่ แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า แนวทางดังกล่าวจะต้องจัดทำราคากลางใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และคาดว่าราคากลางจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 พันล้านบาท
"ผมมั่นใจว่ากลุ่มยูนิคฯ จะก่อสร้างได้ในราคาที่เสนอมาภายในเวลาที่กำหนด คือ 1,100 วัน ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทอาจนำประเด็นการรื้อย้ายมาเป็นข้ออ้างในกรณีที่ทำงานก่อสร้างล่าช้านั้น ยอมรับว่าต้องใช้ผู้มีอำนาจในการรื้อย้ายหรือขับไล่ และการที่ผู้รับเหมาทำหน้าที่นี้อาจเกิดปัญหาบ้าง ส่วนจะเกิดความล่าช้าจนต้องขยายเวลาก่อสร้างเช่นในโครงการอื่นหรือไม่นั้น อยู่ที่ผู้บริหารจัดการสัญญา ถ้ามีความเข้มงวดโอกาสที่งานจะล่าช้าจนต้องขยายเวลาก็จะน้อยลง" นายยุทธนา กล่าว
ส่วนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตรนั้น รฟท.ได้ปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างเป็น 92,924 ล้านบาท จากเดิม 7.7 หมื่นล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวจะรวมระบบรถไฟฟ้าทั้งในช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชันแล้ว โดย รฟท.อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนการก่อสร้างและจราจร(สนข.) ถึงเงื่อนไขเงินกู้ธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือเจบิค หลังจากเจบิคกำหนดให้ รฟท.รื้อย้ายผู้บุกรุก และจัดหาที่อยู่รวมทั้งจ่ายเงินให้ผู้บุกรุกก่อนจึงจะเซ็นสัญญาเงินกู้ แต่ รฟท.ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีกฏหมายรองรับ
นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ยังอนุมัติจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อทำหน้าที่เดินรถในโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ โดยจะเสนอของบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นทุนจดทะเบียน หลังจากนี้จะเสนอ ครม. และคาดว่าจะตั้งบริษัทลูกได้ภายใน 30-45 วัน และจะประกาศรับสมัครผู้บริหารและลูกจ้างรวม 500 คน โดยตั้งเป้าว่าจะเปิดให้บริการเดินรถได้ในวันที่ 12 ส.ค.52

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ