(เพิ่มเติม) LOXLEY จะยื่นฟ้องสน.สลากฯ เรียกค่าเสียหายหวยออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 2 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 11, 2008 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี ในเครือบมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) เตรียมยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากความล่าช้าของโครงการจำหน่ายสลากออนไลน์จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลภายใน 30 วันหลังจากยื่นหนังสือไปเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา

บริษัทคาดว่าจะกำหนดเรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่บริษัทได้ลงทุนค่าเครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์ นอกจากนั้น ทีมทนายยังอยู่ระหว่างประเมินมูลค่าการเสียโอกาสทางธุรกิจของบริษัท เนื่องจากมีภาระการจ่ายเงินเดือนพนักงาน และจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ หลังจากโครงการดังกล่าวยืดเยื้อมากกว่า 3 ปีแล้ว

นายตรีจักร ตันฑ์ศุภศิริ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายจากกรณีสลากออนไลนั้ที่บริษัทใช้เงินลงทุนซื้อเครื่อกว่า 2 พันล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจสลากออนไลน์นับตั้วงแต่เซ็นสัญญากับสำนักงานสลาก เมื่อเดือน ก.ค.48 และยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสในการแสวงหารายได้

อย่างไรก็ตาม สัญญาระบุถึงการนับอายุสัญญาจะเริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มให้บริการครั้งแรกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี ดังนั้น เป็นข้อดีที่บริษัทยังคงสถานะสัญญาอายุ 5 ปีเอาไว้ได้ แม้ว่าหลังจากเซ็นสัญญามากว่า 3 ปีแล้วยังไม่มีผลต่อบริษัท

"ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย โดยศึกษาว่าจะฟ้องในลักษณะใด และเรียกความเสียหายเบ็ตเสร็จเท่าไหร่ ทาง จีเทคฯ คงไม่เข้ามาก้าวก่าย แต่ทาง LOXLEY คงมีวิธีเรียกร้องความเสียหายอยู่แล้ว"นายตรีจักร กล่าว

LOXLEY มีประสบการณ์จากกรณีที่บริษัท จาโก้ ยื่นฟ้องค่าเสียหายกรณีหวยออนไลน์ต่อศาลแพ่งมาแล้วกว่า 2 พันล้านบาท และขณะนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลชำระค่าเสียหายต่อคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานสลากฯ อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฏีกา และหวังว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับบริษัท

นายตรีจักร กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมในโครงการจำหน่ายสลากออนไลน์ทำให้บริษัทฯ ขาดทุนสะสมมากว่า 500 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่มีรายได้เข้ามา มีแต่ค่าใช้จ่าย และจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ LOXLEY ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นในล็อกซเล่ย์ จีเทคฯ กว่า 50% รวมถึงส่งผลนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย ที่ไม่มีความชัดเจนในด้านนโยบาย เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนหลายรอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ