นางนภาภณ์ ลัญฉน์ดิ กรรมการผู้จัดการ บล.เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์(TSFC) กล่าวว่า บริษัทเริ่มกลับมาทำธุรกรรมตามปกติในวันที่ 28 ก.ค.นี้ หลังจากเพิ่มทุนตามแผนปรับการปรับโครงสร้างหนี้ และจดทะเบียนเพิ่มทุนกับกระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว โดยระยะแรกจะเป็นการให้สินเชื่อ Margin Loan และ ESOP Financing Loan ก่อน เบื้องต้นกำหนดวงเงินสูงสุดขั้นต้นสำหรับทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ที่ 15 ล้านบาท
"คาดว่าปริมาณให้สินเชื่อมาร์จิ้นโลน จะเพิ่มปริมาณซื้อขายในตลาดให้มากขึ้น"นางนภาภรณ์ กล่าว
นางนภาภรณ์ คาดว่า ยอดปล่อยสินเชื่อ Outstanding ปลายปี 52 จะอยู่ที่ 4 พันล้านบาทจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท เนื่องจากวอลุ่มหรือภาวะตลาดปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จึงเชื่อว่าธุรกิจหลักทรัพย์จะกลับมาขอใช้วงเงินมากขึ้น
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมของ TSFC คาดว่าจะมีกำไรในปี 53 ภายใต้ที่มีการทำธุรกิจใหม่ เข้ามา คือ ตลาดซื้อคืนพันธบัตรเอกชน(Repo)ก็จะมีกำไร 145 ล้านบาท แต่หากไม่มีธุรกิจ Repo ก็จะมีกำไร 50-60 ล้านบาทจากปีนี้ที่ยังคงขาดทุนอยู่ประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจ REPO ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่ TSFC ที่นอกเหนือไปจากธุรกิจเดิม
นางนภาภรณ์ กล่าวต่อว่า มีความมั่นใจในการกลับมาดำเนินธุรกิจภายใต้ที่มีทุนแข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับการที่มีฐานลูกค้า และ เครดิตบาลานซ์จะทำให้มีรายได้ทันที จาก 7 เดือนก่อนที่มีการทยอยขายหุ้นแต่ไม่มีวงเงิน แต่เมื่อตลาดกลับมาฟื้นก็จะทำให้เราแข็งแกร่งได้เร็วขึ้นอีก
ส่วนการคืนเงินให้กับเจ้าหนี้นั้น จะมีการทยอยคืนอีก 2 งวด รวมวงเงิน 3 พันล้านบาท โดยจะทยอยคืนปลายเดือนธ.ค.ราว 2 พันล้านบาท และมิ.ย. 53 อีก 1.6 พันล้านบาท จากที่ได้คืนหนี้ไปแล้ว 52% ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเงินที่จะมาชำระหนี้มาจาก financing จากสถาบันการเงินและเงินเพิ่มทุนประมาณ 4.5 พันล้านบาท
นางนภาภรณ์ กล่าวว่า หลังการปรับโครงสร้างในครั้งนี้แล้วจะไม่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน 1-2 ปี เพราะที่ผ่านมา TSFC เคยมีการลงทุนผ่านกองทุนหุ้นแล้วได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดที่ปรับตัวลดลง ส่วนนโยบายการลงทนในอนาคตคงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท และภาวะตลาด ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนนำ TSFC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 55 โดยบริษัทมีกำหนดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเลือกคณะกรรมการใหม่วันที่ 7 ส.ค.นี้
"เราเชื่อว่า TSFC จะกลับมาดำเนินธุรกิจได้เหมือนเดิม เพราะที่ผ่านมาเท่าที่ดูปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดจากการลงทุนที่ผิดรูปแบบ หนี้เสียก็มีน้อยสูงสุดเต็มที่ก็แค่ 3% และการมีโครงสร้างใหม่" นางนภาภรณ์ กล่าว