กสท.เผยยื่นคำแก้ต่างอุทธรณ์ 3G เน้นประเด็น รธน.ปี 50 ไม่รองรับอำนาจ กทช.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 22, 2010 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสถาพร เอียดใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายคดี บมจ.กสท โทรคมนาคม(กสท.) เปิดเผยว่า กสท.ยื่นคำแก้ต่างคำฟ้องอุทธรณ์ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ในช่วงบ่ายของวันนี้ โดยเน้นย้ำประเด็นหลักว่า กทช.ไม่มีอำนาจออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้ให้อำนาจไว้

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดว่าอำนาจการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมเป็นของคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมก็ยังไม่ผ่านขั้นตอนของรัฐสภา จึงทำให้เกิดสุญญากาศ

แต่ขณะนี้ก็ไม่มีกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่จะมารองรับว่า กทช.มีสิทธิตามกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่

"เราจะยื่นแย้งที่เขาอุทธรณ์มา ส่วนมากเราเห็นด้วยกับคำสั่งของศาลปกครองกลาง"นายสถาพร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์

ที่ผ่านมา กทช.เคยส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจ เมื่อ ส.ค. 49 แต่ก็ต้องตกไปเมื่อมีการปฏิวัติ 19 ก.ย.49 ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญปี 40 ถูกยกเลิกไป และต่อมามีการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ขึ้นมา ซึ่งได้รวมการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคม ร่วมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน รวมทั้งคณะกรรมการดูแลกกำกับก็รวมกันด้วย

จากนั้น กทช.ก็ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฎษฎีกาตีความอีกครั้งในปี 53 แต่กฎษฎีกาไม่ได้ตอบ เพราะไม่มีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ มาประกอบการพิจารณาด้วย แต่กฎษฎีการะบุไว้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ กทช.จะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และมุ่งหมายของบทบัญญัติ ตามมาตรา 47 และ มาตรา 305 (1) ของรัฐธรรมนูญ ปี 50

กสท.เห็นว่า ตามวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติดังกล่าวต้องการให้มี พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. ภายใน 180 วัน แต่เวลาล่วงเลยมาแล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ดังนั้น กสท.จึงเห็นว่าการดำเนินการของ กทช.เป็นเรื่องขัดกับรัฐธรรมนูญ

นายสถาพร มองว่า ประเด็นสำคัญที่ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคือมาตรา 47 กำหนดให้ต้องมีกฎหมาย กสทช. และ คณะกรรมการ กสทช. เท่ากับ กทช.ก็ไม่มีสภาพเป็น กทช.ในปัจจุบัน ไม่มีอำนาจในการออกประกาศและการดำเนินการทั้งหลาย นี่คือประเด็นหลักที่ กสท.จะโต้แย้งวันนี้

"เรื่องนี้จะแพ้ชนะไม่สำคัญ จุดประสงค์ผมต้องการให้เกิด 3G แต่การเกิด 3G ต้องมาด้วยกระบวนการที่ชอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมาทีหลัง เราไมได้มาเบรกเขา แต่เรามาดูแล้วคุณทำไม่ชอบ สักวันหนึ่งถ้ามีใครมาฟ้อง มาล้มเลิกทีหลัง ความเสียหายจะกระทบในวงกว้างมากกว่า แต่ตอนนี้เร่งหา กสทช.ก็เร่งทำไป ก่อนหน้านี้ก็มีคนเคยเตือน กทช.แล้วว่ามีอำนาจทำได้หรือเปล่า"นายสถาพร กล่าว

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งต่อคำอุทธรณ์ของกทช.ที่ขอให้ยกเลิกของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ระงับการประมูล 3G ในวันที่ 23 ก.ย.เวลา 9.00 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ