นายประเวศ องอาจสิทธิชัย ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าว เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยขณะนี้ สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจ เช่น การเกินดุลการค้าในระดับสูง เป็นต้น เมื่อนักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจก็ทำให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ภารกิจของหน่วยงานในประเทศต้องสร้างความมั่นใจเพื่อให้เงินทุนเหล่านั้นอยู่ในประเทศนานที่สุด และดึงดูดเงินทุนให้เข้ามาเพิ่มขึ้น
และเพื่อเป็นการสร้างระบบให้สมดุล จึงได้มีการเปิดโอกาสให้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้อนุมัติให้นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนรวมเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ(FIF) กำหนดยอดสุทธิในปีนี้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังมีการขอวงเงินมาแค่ 2.5-2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และขณะนี้มีการนำเงินไปลงทุนจริงเพียง 1.5-1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศในปีนี้ขยายตัวในลักษณะชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยปี 52 มีการขอวงเงิน 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นมาแค่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เห็นได้ชัดว่าเพิ่มขึ้นน้อยมาก เนื่องจากตลาดหุ้นไทยปีนี้เริ่มดีแล้ว ประกอบกับ การลงทุนต่างประเทศอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในปีนี้ เพราะได้ผลตอบแทนไม่ดีเท่ากับการลงทุนในประเทศ