TPA เตรียมเปิดการผลิต 25 พ.ย. หลังระดับน้ำรอบรง.พุทธมณฑลลดลงต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 24, 2011 09:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุจิตร ศรีเวทย์บดี กรรมการผู้จัดการ บมจ. ไทยโพลีอะคริลิค (TPA) แจ้งว่า บริษัทมีสภาพเช่นเดียวกับโรงงานอื่นๆในเขตพื้นที่พุทธมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แม้ว่าระดับน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่พุทธมณฑลสาย 4 ไม่รุนแรงเท่ากับพื้นที่พุทธมณฑลสาย 2 สาย 3 และสาย 5 ซึ่งมีระดับน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร โดยน้ำได้ไหลบ่ามาท่วมพื้นที่พุทธมณฑลสาย 4 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องประกาศปิดสายการผลิตตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ได้มีการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมไว้ก่อนล่วงหน้าด้วยการกำหนดแนวกำแพงกั้นด้วยวัตถุหลายชนิดที่ทำด้วยวัตถุต่างกันตั้งแต่ กระสอบทราย อิฐซีเมนต์ และแผงกระดานเหล็ก ในขนาดและความสูงที่แตกต่างกันตั้งแต่ 70 เซนติเมตร ถึง 1.5 เมตร ซึ่งแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันทรัพย์สินและสินค้าวัตถุดิบของบริษัทฯ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีพนักงานอาสาสมัครจำนวนมากที่อาสาพักอาศัยที่โรงงานเพื่อช่วยในกิจกรรมป้องกันโรงงานจากภาวะน้ำท่วมรอบพื้นที่พุทธมณฑล ซึ่งโดยความจริงแล้วพนักงานอาสาสมัครของบริษัทฯ หลายท่านก็มีสภาพเป็นผู้ประสบภัยเนื่องจากบ้านที่พักอาศัยของตนเอง ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวต่างก็ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้

โดยสรุป ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ได้กำหนดแผนการป้องกันน้ำท่วมและแผนฉุกเฉินโดยวางมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ที่จะรักษาทรัพย์สินที่มีค่าของบริษัท และให้ความสำคัญอันดับแรกต่อความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงานบริษัทฯ อีกทั้งยังสนับสนุนงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือทางด้านที่พักอาศัยและอาหารต่อพนักงานและสมาชิกในครอบครวที่ประสบภัยน้ำท่วมตามความเหมาะสม

จากการติดตามภาวะน้ำที่ท่วมขังถึงวันนี้ ระดับน้ำที่ท่วมขังบริเวณรอบโรงงานพุทธมณฑลได้ลดลงมากจากบริเวณหน้าสำนักงานของบริษัทฯระดับน้ำได้ลดลงจาก 40 เซนติเมตร เหลือที่ระดับ 15 เซนติเมตร และยังคงลดลงต่อเนื่องในอัตรา 1-2 เซนติเมตร ต่อวัน ตลอดระยะเวลาที่น้ำท่วมรอบบริเวณโรงงานไม่มีรายงานความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ใช้ในการผลิตสินค้าแต่อย่างใด ทรัพย์สินทั้งหมดยังคงอยู่ในสภาพดีพร้อมที่จะทำงานได้ตามปกติ จากแนวโน้มที่ดีนี้ ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ จึงกำหนดแผนการเปิดสายการผลิตดังเช่นปกติในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2554 โดยบริษัทฯยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ