ทริสฯคงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน TCAP ที่ "A+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 14, 2012 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะการเป็นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งประกอบธุรกิจลงทุนในกลุ่มธนชาต ตลอดจนอำนาจการบริหารงานผ่านการถือหุ้น 50.96% ในธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก และการได้รับเงินปันผลที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารธนชาตอยู่ 1 ขั้นซึ่งสะท้อนถึงการพึ่งพารายได้เงินปันผลจากธนาคารธนชาตเป็นหลักและการมีข้อจำกัดจากกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงินปันผล

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายว่าธนาคารธนชาตซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทจะสามารถผสานประโยชน์ทางธุรกิจกับ BNS เพื่อให้สถานะทางการแข่งขันในธุรกิจหลักมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น อีกทั้งการสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งในด้านการเงิน ตลอดจนความรู้และความเชี่ยวชาญจากพันธมิตรธุรกิจอันได้แก่ BNS และบริษัททุนธนชาตยังจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจและผลประกอบการของธนาคารธนชาตในอนาคตได้อย่างยั่งยืนด้วย

อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ ระบบบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการสนับสนุนทางธุรกิจจากพันธมิตรคือ Bank of Nova Scotia (BNS) ซึ่งถือหุ้น 49% ในธนาคารธนชาตผ่านทาง Scotia Netherlands Holdings B.V. นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนมูลค่าเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศของธนาคารธนชาตภายหลังการควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ในปี 2553

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงอ่อนแอ รวมถึงภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคาร ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และธุรกิจหลักทรัพย์ ตลอดจนความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศและเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดความสามารถในการทำกำไรและโอกาสในการขยายธุรกิจของกลุ่มได้ในอนาคต

TCAP มีสินทรัพย์รวมมากเป็นอันดับ 6 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 15 แห่ง ณ เดือนกันยายน 2555 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 8.0% และเงินฝาก 7.2% อีกทั้งมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 957.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% จาก 888.1 พันล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2554 รายได้จากการดำเนินงานสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 เป็นรายได้ที่มาจากธนาคารธนชาต และบริษัทย่อยของธนาคารประมาณ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นรายได้จากบริษัทและบริษัทย่อย 2 แห่งที่ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

ฐานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวลดลงในปี 2554 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งในช่วงหลังการควบรวมกิจการ โดยกำไรสุทธิลดลง 11.3% จาก 5.6 พันล้านบาทในปี 2553 เป็น 5.0 พันล้านบาทในปี 2554 ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Asset-ROAA) และผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (Return on Average Equity-ROAE) สำหรับปี 2554 เท่ากับ 0.56% และ 6.79% ตามลำดับ ลดลงจาก 0.84% และ 9.47% ในปี 2553

อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิในงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 มีจำนวน 4.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ ROAA และ ROAE เท่ากับ 0.45% และ 5.29% (ยังไม่ได้ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ตามลำดับ ลดลงจาก 0.46% และ 5.62% ในงวดเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงรวมทั้งต้นทุนดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น

บริษัทได้พัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารความเสี่ยงเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังได้รับแรงกดดันจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Asset -- NPA) (ได้แก่ สินเชื่อที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างของสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย)ที่เพิ่มขึ้นภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทย

บริษัทได้พยายามแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-performing Loan-NPL) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจที่ได้จากธนาคารนครหลวงไทยจนทำให้ปริมาณ NPL ลดลงจาก 39.5 พันล้านบาทในปี 2553 เป็น 35.7 พันล้านบาท ในเดือนกันยายน 2555 อัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมเท่ากับ 5.06% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 ลดลงจาก 6.46% ในปี 2553 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง (ไม่รวมธนาคาร 4 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ที่ระดับ 3.27% นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 NPA ของบริษัทคิดเป็น 0.76 เท่าของเงินกองทุนรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ลดลงเล็กน้อยจาก 0.81 เท่าในปี 2554 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 0.44 เท่า

บริษัทมีเงินกองทุนที่ยังคงเพียงพอต่อการเติบโตในระยะกลาง โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวม (บนพื้นฐานการคำนวณแบบรวมกลุ่ม) เท่ากับ 8.32% และ 12.09% ตามลำดับ ลดลงจาก 8.48% และ 12.53% ในปี 2554 แต่ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 4.25% และ 8.50%

ทั้งนี้ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น รวมทั้งคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันบริษัทจากความเสี่ยงในช่วงที่เกิดภาวะถดถอยได้ในระยะกลาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ