PTT คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 61 ในช่วง 69-74 เหรียญ/บาร์เรล ค่าการกลั่น 6.2-6.6 เหรียญ/บาร์เรล

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 10, 2018 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท. (PTT) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 61 อยู่ในช่วง 69-74 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วนค่าการกลั่น (GRM) จะอยู่ในช่วง 6.2-6.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากปีก่อนตามภาพรวมตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่มีอุปสงค์ลดลงเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 มีกำไรสุทธิลดลง 24.5% จากไตรมาส 1/61 รับผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้เกิดการรับรู้ค่าใช้จ่ายทางภาษีของ PTTEP แม้ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นจะมีทิศทางดีขึ้นก็ตาม

PTT คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 69-74 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับเฉลี่ย 68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในครึ่งปีแรก ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในไตรมาส 3/61 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5 แสนบาร์เรล/วันจากไตรมาสก่อนหน้าไปอยู่ที่ระดับ 99.3 ล้านบาร์เรล/วัน และความต้องการใช้น้ำมันโลกของปี 61 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล/วันไปอยู่ที่ระดับ 99.1 ล้านบาร์เรล/วันตามรายงานของ IEA ณ เดือนก.ค.61

สำหรับภาวะอุปทานล้นตลาดคาดว่าจะลดลงจากแผนความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกโอเปกอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง การคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ยังคงต้องติดตามการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และปัญหาความขัดแย้งทางการค้า

ด้านค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ในปี 61 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2-6.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับลดลงจากปี 60 ตามภาพรวมตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่มีอุปสงค์ลดลงเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศปี 61-65 คาดว่าจะลดลง 1.9% โดยประมาณการตามสถานการณ์ปัจจุบันที่การผลิตไฟฟ้าของประเทศจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง เนื่องจากเอกชนมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง นอกจากนี้ ในระยะยาวความต้องการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าก็ปรับลดลงกว่าที่คาดการณ์เดิม โดยคาดว่าจะเข้าไปทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เพียงบางโรง และทดแทนแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ที่ 30% โดยคาดว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) อาจเกิดได้ตามที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้เดิม

ทั้งนี้ ปตท. มีแผนในการเติบโตธุรกิจ LNG Terminal เพื่อรองรับปริมาณการใช้ก๊าซฯในประเทศ โดยมีแผนการลงทุนระยะยาวเพื่อขยายโครงการ LNG Terminal ปัจจุบันเพื่อรองรับก๊าซฯได้รวม 10 ล้านตัน/ปีแล้วเสร็จในปี 60 และจะขยายเป็น 11.5 ล้านตัน/ปี โดยคาดว่าแล้วเสร็จในปี 62 และมีแผนลงทุนโครงการก่อสร้าง LNG Terminal แห่งใหม่ที่รองรับความต้องการก๊าซฯในอนาคต

ปตท. มีการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วยสัญญาระยะยาวเพิ่มเติมจากสัญญา Qatargas / Shell / BP และ Petronas ที่มีอยู่ ภายในปี 60 และปตท.มีแผนที่จะมี LNG contract ในสัญญาระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ของแผนการนำเข้า LNG ทั้งหมด ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ปตท. มีนโยบายเน้นการขายก๊าซฯแบบ Wholesale และส่งเสริมภาคเอกชนในการลงทุนสถานีบริการ

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 ปตท.มีกำไรสุทธิ 30,029 ล้านบาท ลดลง 24.5% จากไตรมาส 1/61 สาเหตุหลักจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการรับรู้ค่าใช้จ่ายทางภาษีของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นของเงินกู้สกุลต่างประเทศของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานปกติโดยรวมของไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ปรับสูงขึ้นจากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติดีขึ้นโดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ และในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดีขึ้นจากไตรมาสก่อนจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผลการดำเนินงานของธุรกิจน้ำมันปรับลดลงตามกำไรขั้นต้นของน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลง นอกจากนี้กลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2/61 เฉลี่ยอยู่ที่ 72.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 ที่อยู่ที่ 63.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจากไตรมาส 2/60 ที่อยู่ที่ 49.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และค่าการกลั่นของโรงกลั่นประเภท cracking อ้างอิงที่สิงคโปร์ในไตรมาส 2/61 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากไตรมาส 1/61 และไตรมาส 2/60 ที่อยู่ที่ 7.0 และ 6.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ

ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ในไตรมาส 2/61 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 และไตรมาส 2/60 โดยทั้งราคาโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (high density polyethylene: HDPE) และราคาโพลีโพรพิลีน (polypropylene: PP) เพิ่มขึ้นจากราคาแนฟทาที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ แม้อุปสงค์ในไตรมาส 2/61 ยังคงลดลงตามฤดูกาล ขณะที่ราคาพาราไซลีน (paraxylene: PX) เพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาส 1/61 และไตรมาส 2/60 จากอุปสงค์ของโพลีเอสเตอร์ที่ยังคงสูง และปริมาณสินค้าคงคลังที่ลดระดับลง

สำหรับในไตรมาส 2/61 ปตท.มียอดขาย 578,787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 8.6% จากไตรมาสก่อน โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากราคาขายผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 63.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 72.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 2/61 ทำให้ผลการดำเนินงานปกติโดยรวมในไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากทั้งปริมาณขายและราคาขายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ

นอกจากนั้น ในไตรมาส 2/61 มีขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 จำนวน 4,532 ล้านบาท โดยหลักมาจากสัญญาบริหารความเสี่ยงทางการเงินของ ปตท. และบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) รวมถึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 7,208 ล้านบาท จากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 4,742 ล้านบาทในไตรมาส 1/61 เป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 2,466 ล้านบาท โดยหลักมาจาก ปตท. และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ และ PTTEP ที่มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการรับเงินจากลูกหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ