(เพิ่มเติม) GPSC ปิดดีลซื้อโซลาร์ฟาร์มในประเทศ 9 โครงการรวม 39.5 MW มูลค่า 3.07 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 27, 2020 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) GPSC ปิดดีลซื้อโซลาร์ฟาร์มในประเทศ 9 โครงการรวม 39.5 MW มูลค่า 3.07 พันลบ.

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แจ้งว่าตามที่บริษัทจะเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ในประเทศ จำนวน 9 โครงการ รวมกำลังการผลิต 39.5 เมกะวัตต์ มูลค่ารวมประมาณ 3.07 พันล้านบาท ซึ่งได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทตั้งแต่ปลายปี 61 นั้น เมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) บริษัทได้บรรลุผลสำเร็จตามเงื่อนไขบังคับก่อน (Conditions precedent) ตามสัญญาซื้อขายหุ้น และได้ดำเนินการเข้าถือหุ้น จำนวน 100% ของบริษัท เอ็น.พี.เอส. สตาร์กรุ๊ป จำกัด บริษัท เวิลด์ เอ็กซ์เชนจ์ เอเชีย จำกัด บริษัท พี.พี. โซล่า จำกัด และบริษัท เทอร์ร่าฟอร์ม โกลบอล โอเปอเรติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เสร็จสิ้นแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทดังกล่าวมีโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 9 โครงการ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิจิตร สุ พรรณบุรี ลพบุรี และขอนแก่น โดยมีกำลังการผลิตรวม 39.5 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อายุสัญญา 25 ปี ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และมีอายุสัญญาคงเหลือจนถึงปี 2582 - 2583

แบ่งเป็น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 8 บาท/หน่วย สำหรับช่วง 10 ปีแรกของสัญญา ในสัดส่วน 3.6 เมกะวัตต์ และ สัญญาในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT อัตรา 5.66 บาท/หน่วย ในสัดส่วน 35.9 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2557-2558

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC เปิดเผยว่า ภายหลังการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้สำเร็จ ส่งผลให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้เต็มงวดตั้งแต่ไตรมาส 2/63 แสดงให้เห็นว่าบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานในด้านของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า และการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก

อย่างไรก็ตาม แผนการพัฒนากำลังการผลิตใหม่ในปี 2563-2566 บริษัทยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการส่วนต่อขยายของบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด (NNEG Expansion) โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร Rayong Waste to Energy (WTE) โครงการ เอนเนอยี รีคอฟเวอรี่ ยูนิต (ERU) และโครงการ SPP Replacement ของบมจ.โกลว์ พลังงาน ซึ่งขณะนี้ทุกโครงการมีความคืบหน้าในการพัฒนาตามแผน และมั่นใจว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ