ADVANC คาดปี 67 รายได้โต 13-15%, EBITDA โต 14-16% วางงบลงทุน 2.5-2.6 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 7, 2024 09:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ในปี 67 บริษัทคาดการณ์รายได้จากการให้บริการหลักเติบโตประมาณ 13-15% ส่วนกำไร EBITDA เติบโตประมาณ 14-16% พร้อมตั้งงบประมาณการลงทุน (ไม่รวมคลื่นความถี่) ประมาณ 25,000-26,000 ล้านบาท

ปี 67 คาดการณ์การเติบโตจากการรับรู้รายได้จากการซื้อกิจการ บมจ.ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ (TTTBB) ร่วมกับการรักษาแนวโน้มการเติบโตของการดำเนินงานปกติ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้และภาวะการแข่งขันที่ทรงตัว เอไอเอสมุ่งเน้นสร้างการเติบโตด้วยการนำเสนอบริการแบบหลอมรวม (convergence) ระหว่างบริการหลักด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้ผู้ใช้บริการได้รับคุณค่ามากขึ้นจากการใช้งานหลากหลายผลิตภัณฑ์(multi-product proposition) ควบคู่กับพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง

  • โทรศัพท์เคลื่อนที่ มุ่งเน้นรักษาความเป็นผู้นำด้านคุณภาพและความครอบคลุมของโครงข่าย การนำเสนอสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจงแก่ผู้ใช้บริการเฉพาะกลุ่ม และยกระดับคุณค่าของบริการผ่านปัจจัยต่างๆ อาทิ 5G บริการแบบหลอมรวม และระบบนิเวศสิทธิประโยชน์ เพื่อส่งมอบบริการดิจิทัลเหนือระดับแก่ผู้ใช้บริการ
  • อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เติบโตด้วยการรับรู้รายได้จาก TTTBB ร่วมกับรักษาแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ใช้ประโยชน์จากฐานผู้ใช้บริการที่ขยายตัวขึ้นและโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศจากการรวมกันระหว่างเอไอเอสและ TTTBB พร้อมการนำเสนอสินค้าด้วยจุดเด่นด้านนวัตกรรมและคุณภาพการให้บริการที่เหนือกว่าเพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่มากกว่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบทั่วไป เอไอเอสให้ความสำคัญไปที่กระบวนการบูรณาการการทำงานระหว่างเอไอเอส และ TTTBB เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและสร้างให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงรายได้และต้นทุน (Synergies)
  • บริการลูกค้าองค์กรร มุ่งเน้นการเติบโตที่สร้างผลตอบแทนสูงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รับประโยชน์จากการพัฒนาของสภาพเศรษฐกิจ-สังคม โดยใช้ประโยชน์จากบริการการเชื่อมต่อสื่อสาร บริการเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และ การสร้างความแตกต่างด้วยแพลตฟอร์มบนเทคโนโลยี 5G (5G Paragon Platform)

ในปี 67 บริษัทตั้งเป้างบลงทุน 25,000-26,000 ล้านบาทเพื่อรักษาคุณภาพบริการ โดยงบลงทุนลดลงจากปีก่อน เป็นผลมาจากการเร่งลงทุนโครงข่าย 5G คลื่นความถี่ 700MHz ในปี 66 การใช้ประโยชน์จากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่กว้างขึ้นของ TTTBB การใช้จ่ายงบลงทุนอย่างเหมาะสมสอดคล้องไปกับความตั้งใจในการรักษาลูกค้าคุณภาพสูงผ่านการคงสถานะการเป็นผู้นำด้านโครงข่าย ขณะยังมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากการเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้งบลงทุนร่วมเพื่อให้มีประโยชน์และประสิทธิผลทางการเงินมากขึ้น (CAPEX synergy) จากการผนึกกำลังของโครงข่ายระหว่างเอไอเอสและ TTTBB

โดยสรุป เอไอเอสคาดการณ์สัดส่วนงบลงทุนสำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 60% ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน 28% และส่วนที่เหลือสำหรับธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและอื่นๆ

"ในปีนี้เรายังคงเดินหน้ายกระดับการให้บริการในทุกกลุ่มธุรกิจ อย่างต่อเนื่องเพื่อขยายโครงข่ายสื่อสารและโครงข่ายเน็ตบ้านให้มีความครอบคลุมทุกพื้นที่การใช้งานของคนไทย อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนของประเทศในทุกมิติ" นายสมชัย กล่าว

สำหรับผลประกอบการปี 66 เอไอเอส ทำรายได้รวม 188,873 ล้านบาทในปี 66 เพิ่มขึ้น 1.2% ได้รับประโยชน์จากการเริ่มรับรู้รายได้ TTTBB และมีกำไรสุทธิ 29,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% EBITDA เท่ากับ 93,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งทุกธุรกิจ ร่วมกับการพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน ด้วยระบบโครงข่ายอัตโนมัติ (Autonomous Network) และ ระบบไอทีอัจฉริยะที่ยกระดับประสบการณ์การใช้งาน โดยมีผลการดำเนินงานแยกตามกลุ่มธุรกิจดังนี้

รายได้การให้บริการหลักเติบโต 2.5% ต่ำกว่าประมาณการ 3-5% (ยังไม่รวมธุรกรรมการเข้าลงทุน TTTBB และ 19% ในกองทุน JASIF) เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวฟื้นตัวต่ำกว่าคาด และการมุ่งเน้นขายผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลตอบแทนสูงในบริการลูกค้าองค์กร และ EBITDA เติบโต 3% ต่ำกว่าประมาณการ จากการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า และ ค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการ

สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีจำนวนลูกค้า 44.6 ล้านเลขหมาย โครงข่าย 5G ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการใกล้เคียง 90% ของพื้นที่ประชากร โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 9.2 ล้านเลขหมาย ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง AIS 3BB FIBRE3 มีฐานลูกค้ากว่า 4.7 ล้านครัวเรือน

บริษัทใช้งบลงทุน (ไม่รวมคลื่นความถี่) ราว 41,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 27,000-30,000 ล้านบาท จากการเร่งลงทุนโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 700MHz จากการเป็นพันธมิตรกับ NT สอดคล้องกับประมาณการถ้าไม่นับผลกระทบจากการเร่งลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ