ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุดในวันนี้ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อมีความผันผวนมากขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการดิ่งลงของหุ้นในกลุ่มพลังงาน ขานรับราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงเกือบ 3% ในวันนี้ จากการคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐและอิหร่านใกล้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งจะปูทางให้อิหร่านส่งออกน้ำมันในตลาด
ณ เวลา 21.36 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 41,901.12 จุด ลบ 149.94 จุด หรือ 0.36%
นายพาวเวลกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง และนโยบายการเงินกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ทั้งนี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Thomas Laubach Research Conference ในวันนี้ ซึ่งมีการทบทวนกรอบนโยบายของเฟด นายพาวเวลระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่ที่เฟดได้ทบทวนกรอบนโยบายครั้งล่าสุดในปี 2020
"อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่สูงขึ้น อาจสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะมีความผันผวนมากขึ้นในอนาคต เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษ 2010 และเราอาจกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เกิดภาวะช็อกด้านอุปทานบ่อยครั้งขึ้น และอาจรุนแรงขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายมากขึ้นต่อเศรษฐกิจและธนาคารกลางต่าง ๆ" นายพาวเวลกล่าว
นายพาวเวลกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฟดเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ และแม้ว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวยังคงใกล้เคียงกับเป้าหมาย 2% ของเฟด แต่ยุคของอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% อาจจะไม่กลับมาอีกในเร็ว ๆ นี้
เฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% เป็นเวลาถึง 7 ปี หลังเผชิญวิกฤตการเงินในปี 2008 แต่นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2024 เป็นต้นมา เฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วง 4.25-4.50%
แม้ว่านายพาวเวลไม่ได้ระบุถึงการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการกล่าวถ้อยแถลงในวันนี้ แต่ก่อนหน้านี้ เขาได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่มาตรการภาษีดังกล่าวจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น แต่เป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลกระทบของภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อปธน.ทรัมป์ได้ผ่อนคลายท่าที พร้อมเปิดช่องเจรจากับประเทศคู่ค้าเป็นเวลา 90 วัน
อย่างไรก็ดี แม้ภาวะเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป แต่เฟดยังคงไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในปีที่ผ่านมา
สำหรับการทบทวนกรอบนโยบายของเฟดในรอบนี้ เฟดจะวางแผนระยะ 5 ปีเพื่อกำหนดแนวทางในการตัดสินใจนโยบาย พร้อมกับวิธีการสื่อสารกับสาธารณะ
นายพาวเวลกล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวจะพิจารณาจากหลายปัจจัย รวมถึงวิธีการที่เฟดทำการสื่อสารความคาดหวังในอนาคต และจะทบทวนสิ่งที่สามารถปรับปรุงจากกรอบนโยบายเดิม
ในช่วงฤดูร้อนของปี 2020 ท่ามกลางภาวะปั่นป่วนที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เฟดได้ประกาศใช้นโยบาย "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยแบบยืดหยุ่น" ซึ่งอนุญาตให้เงินเฟ้อสูงกว่าระดับเป้าหมายของเฟดได้ชั่วคราว เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ แต่เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากช่วงโควิดได้ทำให้นโยบายดังกล่าวแทบใช้การไม่ได้ และเฟดต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง ซึ่งการทบทวนกรอบนโยบายของเฟดในครั้งนี้จะให้ความสำคัญต่อการที่เฟดจะจัดการกับความบกพร่องในการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อและการจ้างงาน
นายพาวเวลไม่ได้ระบุวันที่แน่ชัดสำหรับการเสร็จสิ้นการทบทวนกรอบนโยบายของเฟดในรอบนี้ โดยกล่าวแต่เพียงว่า "สิ่งนี้จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า"
ทั้งนี้ ในการทบทวนกรอบนโยบายของเฟดในครั้งที่แล้ว นายพาวเวลได้ใช้เวทีการประชุมที่เมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง ในการแถลงนโยบายดังกล่าว