ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันศุกร์ (4 ก.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มเหมืองแร่ที่ร่วงลง ขณะที่นักลงทุนหันไปจับตาเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งกำหนดให้ประเทศคู่ค้าบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 541.13 จุด ลดลง 2.63 จุด หรือ -0.48%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,696.27 จุด ลดลง 58.28 จุด หรือ -0.75%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 23,787.45 จุด ลดลง 146.68 จุด หรือ -0.61% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,822.91 จุด ลดลง 0.29 จุด หรือ -0.003%
หุ้นกลุ่มทรัพยากรพื้นฐาน ปรับตัวลงมากที่สุด โดยลดลง 1.4% เนื่องจากราคาสินแร่โลหะพื้นฐาน เช่น ทองแดงลดลง
หุ้นกลุ่มธนาคาร ลดลง 1.3% โดยธนาคารบีบีวีเอของสเปน (BBVA) ร่วงหนักสุด 2.6%
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มดูแลสุขภาพช่วยพยุงตลาด โดยปรับขึ้น 1.1% หลังหุ้นบริษัทยารายใหญ่ อาทิ โนวาร์ตีส (Novartis), โรช (Roche) และ โนโว นอร์ดิสค์ (Novo Nordisk) ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นที่มีน้ำหนักมากในดัชนี STOXX 600 ต่างก็ปรับตัวขึ้น
หุ้นผู้ผลิตสุราของฝรั่งเศส ได้แก่ Pernod Ricard, Remy Cointreau และ LVMH ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Hennessy ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดของวัน หลังจีนประกาศยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตคอนญัครายใหญ่ของสหภาพยุโรป หากขายในราคาขั้นต่ำที่กำหนด
เกี่ยวกับประเด็นภาษีนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ จะเริ่มส่งจดหมายถึงประเทศต่าง ๆ ในวันศุกร์ (4 ก.ค.) เพื่อระบุอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่ประเทศเหล่านั้นจะต้องจ่าย
เนื่องจากช่วงเวลาผ่อนผัน 90 วันของทรัมป์ในการขึ้นภาษีใกล้จะสิ้นสุดในสัปดาห์หน้า นักลงทุนจึงมีท่าทีระมัดระวัง ขณะที่ประเทศคู่ค้ารายใหญ่หลายแห่ง รวมถึงสหภาพยุโรป ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้
สหภาพยุโรปพยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงในหลักการกับสหรัฐฯ ก่อนถึงเส้นตาย โดยหวังให้มีการผ่อนปรนภาษีในภาคส่วนสำคัญทันที หากสามารถบรรลุข้อตกลงได้
นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน (J.P. Morgan) ระบุในบันทึกว่า การเจรจายังคงดำเนินอยู่ในหลายประเด็นที่ไม่ใช่ภาษี โดยมีแนวโน้มว่าจะจบลงด้วยเอกสารข้อตกลงฉบับสั้น 2 หน้า ซึ่งผลักภาระเรื่องใหญ่ ๆ ไปในอนาคต ขณะเดียวกันก็ยังคงภาษีเดิมไว้
ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ทำให้นักลงทุนเลิกคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเดือนก.ย.
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในสัปดาห์นี้คือร่างกฎหมายลดภาษีของทรัมป์ ซึ่งผ่านอุปสรรคสุดท้ายในสภาคองเกรสเมื่อวันพฤหัสบดี และคาดว่าจะมีการลงนามเป็นกฎหมายในวันศุกร์ (4 ก.ค.) ซึ่งตรงกับวันชาติของสหรัฐฯ