ดาวโจนส์ร่วงวันที่ 2 ผิดหวังความล่าช้าของมาตรการปรับลดภาษีสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 10, 2017 22:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์เปิดแดนลบในวันนี้ โดยร่วงลงเป็นวันที่ 2 จากความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับความล่าช้าของมาตรการปรับลดภาษีของสหรัฐ

ณ เวลา 21.50 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 23,417.55 จุด ลดลง 44.39 จุด หรือ 0.19%

เมื่อพิจารณาทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์มีแนวโน้มร่วงลงในสัปดาห์นี้เป็นครั้งแรกในรอบ 9 สัปดาห์

หุ้นกลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพดิ่งลงนำตลาดวันนี้ ขณะที่หุ้นอินเทลร่วงลงมากที่สุดในการซื้อขายช่วงแรก

หุ้นกลุ่มสื่อสารดีดตัวขึ้นสวนทางตลาด ขณะที่การพุ่งขึ้น 2% ของหุ้นดิสนีย์ช่วยสกัดช่วงลบของดัชนีดาวโจนส์

นักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ หลังจากที่หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2562

สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาได้เปิดเผยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับของวุฒิสภาเมื่อวานนี้ ซึ่งเนื้อหาหลักในร่างกฎหมายมีความแตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนราษฎร จึงส่งผลให้เกิดความไม่แน่แนอนว่า วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จะสามารถประสานความแตกต่างในเนื้อหาเหล่านี้ให้ลงตัวได้หรือไม่

การชะลอการบังคับใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษี ถือเป็นการสวนทางความตั้งใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้โดยทันทีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ การชะลอการบังคับใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษีจะช่วยลดงบประมาณรายจ่ายในร่างกฎหมายปรับลดอัตราภาษีได้มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็จะส่งผลให้บริษัทของสหรัฐที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเลื่อนการตัดสินใจย้ายฐานกลับสู่สหรัฐ เนื่องจากต้องการรอให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

บริษัทนิวส์ คอร์ป รายงานกำไรและรายได้ในไตรมาส 3 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ นิวส์ คอร์ป เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไร 7 เซนต์/หุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1 เซนต์/หุ้น

นอกจากนี้ ยอดขายอยู่ที่ระดับ 2.06 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.97 พันล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ