ดาวโจนส์ทรุดกว่า 100 จุด ร่วงหนักสุดนับตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนตื่นข่าวจีนเล็งยุติซื้อบอนด์สหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 10, 2018 21:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 100 จุดในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนวิตกต่อข่าวที่ว่า จีนอาจยุติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ณ เวลา 21.51 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,274.03 จุด ลดลง 111.77 จุด หรือ 0.44%

การร่วงลงของดัชนีดาวโจนส์ในวันนี้ เป็นการทรุดตัวลงหนักที่สุดของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทนับตั้งแต่ต้นปี หลังจากที่พุ่งขึ้นอย่างมากก่อนหน้านี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ว่า เจ้าหน้าที่จีนได้เสนอให้รัฐบาลชะลอ หรือยุติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

บลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า เจ้าหน้าที่จีนซึ่งมีหน้าที่พิจารณาการถือครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน ได้เสนอให้รัฐบาลจีนชะลอ หรือยุติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

แหล่งข่าวระบุว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเริ่มมีความน่าดึงดูดลดน้อยลง เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ นอกจากนี้ ความตึงเครียดของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้จีนลดการซื้อพันธบัตรสหรัฐ

ทั้งนี้ จีนนับเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรายใหญ่ที่สุดในโลก และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในโลก

ขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนในวันนี้ โดยอยู่ที่ระดับ 2.593% หลังจากดีดตัวทะลุ 2.50% เมื่อวานนี้ ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะซบเซาของตลาดพันธบัตรสหรัฐ

นักวิเคราะห์ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่พุ่งขึ้นกำลังสร้างความวิตกต่อนักลงทุน

นายบิล กรอส ซึ่งเป็นผู้จัดการพอร์ทโฟลิโอของเจนัส แคปิตอล แมเนจเมนท์ และเป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารแปซิฟิก อินเวสท์เมนท์ แมเนจเมนท์ หรือ พิมโก้ กองทุนรวมตราสารหนี้ภาครัฐรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก กล่าวว่า ตลาดพันธบัตรได้เข้าสู่ภาวะหมีแล้ว หลังจากปรับตัวสดใสเป็นเวลานานกว่า 25 ปี

ทั้งนี้ นายกรอสทวีตข้อความเมื่อวานนี้ ระบุว่า "ตลาดพันธบัตรเข้าสู่ภาวะหมีแล้ว โดยมีการยืนยันในวันนี้ ขณะที่เส้น trendline ระยะยาว 25 ปีได้หยุดชะงักสำหรับพันธบัตรอายุ 5 ปี และ 10 ปี"

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนในวันนี้ โดยอยู่ที่ระดับ 2.593% หลังจากดีดตัวทะลุ 2.50% เมื่อวานนี้ ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะซบเซาของตลาดพันธบัตรสหรัฐ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า BOJ จะลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรระยะยาวในตลาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวดีดตัวขึ้น และทำให้มีการคาดการณ์กันว่า BOJ กำลังเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ถอนตัวจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในปัจจุบัน ส่งผลให้เยนแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์และยูโรเมื่อวานนี้ และในวันนี้

ทางด้านนายไมค์ เบลล์ นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน แอสเซท แมเนจเมนท์ กล่าวว่า นักลงทุนไม่ควรกังวลต่อราคาหุ้นในตลาดที่พุ่งสูงในขณะนี้ และเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง

"แม้ว่าราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างมาก แต่มูลค่าหุ้นก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2017 สำหรับตลาดยุโรป สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เนื่องจากผลประกอบการก็ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน" นายเบลล์กล่าว

"มีแต่เพียงตลาดเกิดใหม่ และตลาดสหรัฐเท่านั้นที่มูลค่าหุ้นได้ดีดตัวขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการ โดยราคาหุ้นสหรัฐเริ่มมีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว" เขากล่าว

นายเบล์ยังระบุว่า การที่ตลาดแรงงานสหรัฐมีความแข็งแกร่ง, การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในยุโรป, ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และข้อมูลที่บ่งชี้ว่าราคาหุ้นจะดีดตัวขึ้นในปีนี้ ได้ช่วยสนับสนุนมุมมองที่ว่าตลาดหุ้นยังคงมีโอกาสในการปรับตัวขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ เจพีมอร์แกน แอสเซท แมเนจเมนท์ คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ โดยสูงกว่าที่ตลาดการเงินคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง

"เราเชื่อว่าตลาดหุ้นจะสามารถปรับตัวรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ แต่หากเงินเฟ้อยังคงดีดตัวขึ้น และทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 3-4 ครั้งในปีหน้า ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2019 หรือปี 2020 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น เนื่องจากจะทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย"

นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายรายในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

เจ้าหน้าที่เฟดที่จะกล่าวสุนทรพจน์ในวันนี้ ได้แก่ นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟด สาขาชิคาโก, นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟด สาขาดัลลัส และนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนหลุยส์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ