ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าอ่อนตัวลง เหตุวิตก IMF หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 10, 2019 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าวันนี้อ่อนตัวลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก ภายหลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สู่ระดับ 3.3% จากเดิมที่ระดับ 3.5% โดยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า รวมทั้งการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 30,031.55 จุด ลดลง 125.94 จุด, -0.42% ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 21,659.16 จุด ลดลง 143.43 จุด, -0.66% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียปิดภาคเช้าที่ 1,637.25 จุด ลดลง 4.69 จุด, -0.29%

อย่างไรก็ดี IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.6% ในปีหน้า ซึ่งเท่ากับการขยายตัวในปี 2561

"ดุลความเสี่ยงยังคงอยู่ในช่วงขาลง และการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจะทำให้มีการดีดตัวขึ้นของต้นทุนของสินค้านำเข้าขั้นกลาง, สินค้าทุน และราคาสินค้าขั้นสุดท้ายสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้า และความกังวลเกี่ยวกับการตอบโต้ทางการค้า จะทำให้การลงทุนลดลง, ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และการขยายตัวของประสิทธิภาพการผลิตชะลอตัวลง ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของภาคเอกชนลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน และฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" IMF ระบุ

จีนและสหภาพยุโรป (EU) ได้บรรลุฉันทามติครั้งสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี การวางแผนด้านความร่วมมือในอนาคต และการสนับสนุนระบบพหุภาคี ในขณะที่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน-EU ครั้งที่ 21 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวานนี้ โดยมีนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป และนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เป็นประธานร่วม

จีน และ EU ต่างให้ความสำคัญกับการกระชับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เห็นพ้องกันในการสนับสนุนระบบพหุภาคีและเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ต่อต้านนโยบายกีดกันทางการค้าและการกระทำเพียงฝ่ายเดียว ทั้งยังมีเป้าหมายเดียวกันในการปรับปรุงธรรมาภิบาลโลก รวมถึงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพทั่วโลก

ข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้มีการเปิดเผยแล้วในวันนี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภคไฟฟ้าของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนในเดือนก.พ. ขานรับอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากภาคการผลิต

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นดัชนีวัดการใช้จ่ายด้านทุนของภาคเอกชนนั้น ดีดตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนในเดือนก.พ. โดยเพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนก่อนหน้า แตะที่ระดับ 8.367 แสนล้านเยน (7.5 พันล้านดอลลาร์)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ