ดาวโจนส์พลิกพุ่งกว่า 100 จุด หุ้น"แอปเปิล",แบงก์หนุนตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 3, 2019 21:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พลิกพุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในวันนี้ หลังเปิดตลาดในแดนลบ โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวของหุ้นแอปเปิล อิงค์ และหุ้นกลุ่มธนาคาร

อย่างไรก็ดี ดาวโจนส์ยังคงถูกกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตที่อ่อนแอของสหรัฐ และการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ณ เวลา 21.46 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 24,916.74 จุด บวก 101.70 จุด หรือ 0.41%

ราคาหุ้นแอปเปิล อิงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักทรัพย์จำนวน 30 หลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีดาวโจนส์ พุ่งขึ้นเกือบ 1% ก่อนที่แอปเปิลจะจัดการประชุม Worldwide Developers Conference (WWDC) ประจำปีในวันนี้ที่เมืองซานโฮเซ่ รัฐแคลิฟอร์เนีย

การประชุมดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในเวลา 13.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือเที่ยงคืนนี้ตามเวลาไทย และจะเป็นการรวมตัวกันของนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากทั่วโลกจำนวนหลายพันคน

การประชุม WWDC จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 3-7 มิ.ย. โดยที่ผ่านมา แอปเปิลมักใช้วันแรกของการจัดการประชุมดังกล่าวในการเปิดตัวซอฟท์แวร์ใหม่ และบางครั้งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ แอปเปิลจะเปิดตัว iOS 13 ซึ่งเป็น iOS เวอร์ชั่นล่าสุดสำหรับ iPhone และ iPad รวมทั้งซอฟท์แวร์ล่าสุดของ Apple Watch, Apple TV และ macOS สำหรับเครื่อง Macs

อย่างไรก็ดี ผู้เชียวชาญคาดว่า แอปเปิลจะไม่มีการเปิดตัว iPhone และ iPad ใหม่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ในการประชุม WWDC ปีนี้

มีการคาดการณ์กันว่า แอปเปิลจะเปิดตัว iOS 13 ฉบับเบต้าให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทำการทดสอบในช่วงฤดูร้อนนี้

นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน และมอร์แกน สแตนลีย์กล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มที่สหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าในการประชุม G20 ที่ญี่ปุ่นในเดือนนี้

"ความเห็นส่วนตัวของผมคือ ไม่มีการทำข้อตกลงในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งถ้าคุณดูจุดยืนของสหรัฐยังคงก้าวร้าวมาก ไม่เพียงแต่มาจากประธานาธิบดี แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนในรัฐบาล จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าในระยะสั้น" นายเจมส์ ซัลลิแวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยหุ้นของเจพีมอร์แกน กล่าว

ทางด้านนายโจนาธาน การ์เนอร์ นักวิเคราะห์ตลาดเกิดใหม่ของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวเช่นกันว่า เขามองว่ามีโอกาสสูงที่จะไม่มีการทำข้อตกลงการค้าในการประชุม G20

นายการ์เนอร์ยังระบุว่า ทั้งสหรัฐและจีนจะได้รับผลกระทบ หากการทำสงครามการค้ามีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางของทั้งสองประเทศผ่อนคลายนโยบายการเงิน

มอร์แกน สแตนลีย์ยังระบุว่า หากสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน สหรัฐก็จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในเวลา 3 ไตรมาส

ส่วนนายซัลลิแวนเตือนว่า ความไม่แน่นอนของการทำสงครามการค้าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้จ่าย และความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจทั่วโลก

นายหวัง โส่วเหวิน รมช.พาณิชย์จีน กล่าวว่า สหรัฐจะไม่สามารถใช้แรงกดดันมาบีบบังคับให้จีนทำข้อตกลงการค้า

"สหรัฐพูดจากลับกลอกไปมา เมื่อพวกเขาได้คืบ ก็จะเอาศอก" นายหวังกล่าว

นอกจากนี้ นายหวังยังปฏิเสธที่จะกล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะพบปะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นอกรอบการประชุม G20 ที่ญี่ปุ่นในเดือนนี้เพื่อเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าหรือไม่

นายหวังกล่าวแต่เพียงว่า จีนจะส่งผู้แทนเข้าประชุมสุดยอด G20

การประชุมสุดยอด G20 จะมีขึ้นที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 28-29 มิ.ย.

ทั้งนี้ กลุ่ม G20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล สหราชอาณาจักร แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐ และสหภาพยุโรป

การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนประสบความล้มเหลวในเดือนที่แล้ว โดยที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้า ขณะที่สหรัฐได้เพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10% ส่งผลให้จีนทำการตอบโต้ ด้วยการเพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.

นอกจากนี้ สหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ทำให้บริษัทไม่สามารถซื้อสินค้าจากสหรัฐ และสหรัฐยังได้เตรียมพิจารณาเพิ่มบัญชีรายชื่อบริษัทจีนที่จะถูกขึ้นบัญชีดำ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังพิจารณาที่จะขึ้นบัญชีดำบริษัทจำหน่ายกล้องวงจรปิดรายใหญ่ 5 รายของจีน ซึ่งรวมถึงบริษัท Hikvision Digital Technology และ บริษัท Dahua Technology ด้วยข้อหากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 52.1 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต.ค.2559 และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าดัชนีจะดีดตัวสู่ระดับ 53.0 จากระดับ 52.8 ในเดือนเม.ย.

การปรับตัวลงของดัชนี ISM ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 33 ติดต่อกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ