ดาวโจนส์พลิกดีดตัวสู่แดนบวก คาดเฟดลดดอกเบี้ยเดือนนี้ หลังเผยตัวเลขศก.ซบเซา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 3, 2019 23:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พลิกดีดตัวสู่แดนบวก จากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคบริการของสหรัฐที่อ่อนแอในวันนี้

ดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 300 จุดในช่วงแรก โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน หลุดระดับ 26,000 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคบริการของสหรัฐที่ซบเซา

ณ เวลา 23.37 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,104.02 จุด บวก 25.40 จุด หรือ 0.10%

นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคบริการของสหรัฐที่น่าผิดหวังในวันนี้

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสสูงถึง 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ต.ค. และมีแนวโน้ม 50% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในเดือนธ.ค.

หากเฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ ก็จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ของเฟดในปีนี้ รวมทั้งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงิน 3 ครั้งติดต่อกัน

ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงแตะระดับ 52.6 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2559 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.3 จากระดับ 56.4 ในเดือนส.ค.

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่

ก่อนหน้านี้ ISM ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2552 จากระดับ 49.1 ในเดือนส.ค.

ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2

ภาคการผลิตของสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะหดตัวในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี หลังจากที่มีการขยายตัวติดต่อกัน 35 เดือน

ภาคธุรกิจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงตั้งแต่เดือนก.ค. โดยการบริโภค คำสั่งซื้อใหม่ สต็อกสินค้าคงคลังเพื่อการส่งออกและนำเข้า หดตัวลงเช่นกัน ขณะที่ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลง

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐต่อจีนและยุโรป

ทั้งนี้ สหรัฐและจีนจะเจรจาการค้าในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน ขณะที่นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นผู้นำคณะเจรจาการค้าของจีน

ทางด้านนายดาเนียล โรซาริโอ โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า EU พร้อมตอบโต้สหรัฐ หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากยุโรปตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลก (WTO)

WTO มีคำตัดสินวานนี้ให้ความเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐในการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากยุโรปวงเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ และระบุว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน ให้การอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายต่อบริษัทแอร์บัส

ทางด้านสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ออกแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐเตรียมเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU ในวันที่ 18 ต.ค.นี้ หลังจาก WTO ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 145,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.7%

เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 130,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 3.7% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 219,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 215,000 ราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ทรงตัวที่ระดับ 212,500 รายในสัปดาห์ที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ