ดาวโจนส์พุ่งไม่หยุด ล่าสุดทะยานกว่า 200 จุด เก็งเฟดลดดอกเบี้ยเดือนนี้ หลังเผยตัวเลขจ้างงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 4, 2019 23:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานกว่า 200 จุด ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด

ณ เวลา 23.26 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,443.92 จุด บวก 242.88 จุด หรือ 0.93%

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการปรับตัวของดัชนีดาวโจนส์ทั้งสัปดาห์ ก็มีแนวโน้มที่ดาวโจนส์จะปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 136,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 145,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี และต่ำกว่าระดับ 3.7% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 79.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 29-30 ต.ค.

หากเฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ ก็จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ของเฟดในปีนี้ รวมทั้งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงิน 3 ครั้งติดต่อกัน

นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.49 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 5.45 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 5.40 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค.

อย่างไรก็ดี สหรัฐขาดดุลการค้าต่อจีนลดลง 3.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และลดลง 11.4% เมื่อเทียบรายปี

นอกจากนี้ สหรัฐขาดดุลการค้าต่อสหภาพยุโรปลดลง 23.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน แต่เพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ขาดดุลการค้าต่อเยอรมนีพุ่งแตะระดับ 7.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงพาณิชย์ยังเปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.079 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ส่วนการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.628 แสนล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ