ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงเกือบ 100 จุด หลังเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งเกินคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 13, 2021 20:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงเกือบ 100 จุดในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งได้บดบังตัวเลขผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียน

ณ เวลา 20.01 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 86 จุด หรือ 0.25% สู่ระดับ 34,789 จุด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยระบุว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2551 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 5.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนพ.ค.

นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 4.5% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2534 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.8% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนพ.ค.

นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยเจพีมอร์แกน, โกลด์แมน แซคส์ และเป๊ปซี่โค ต่างเปิดเผยผลประกอบการที่สูงกว่าคาดในวันนี้ ขณะที่แบงก์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป, เวลส์ ฟาร์โก, เดลต้า แอร์ไลน์ และแบล็คร็อค จะเปิดเผยผลประกอบการในวันพรุ่งนี้ ส่วนมอร์แกน สแตนลีย์ และยูไนเต็ดเฮลธ์ จะเปิดเผยผลประกอบการในวันพฤหัสบดี

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าบริษัทในดัชนี S&P 500 จะมีกำไรในไตรมาส 2 พุ่งขึ้น 65% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2552

บริษัทจำนวน 66 แห่งในดัชนี S&P 500 ได้ออกรายงานคาดการณ์ผลประกอบการที่เป็นบวกในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่บริษัท FactSet ได้เริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าว

นอกจากนี้ คาดว่าหุ้นทั้ง 11 กลุ่มในตลาดจะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงาน อุตสาหกรรม และการเงิน ขานรับการเปิดเศรษฐกิจใหม่ หลังจากที่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน ตลาดยังจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรส โดยเขาจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 14 ก.ค.เวลา 12.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 23.00 น.ตามเวลาไทย และต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 15 ก.ค.เวลา 09.30 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 20.30 น.ตามเวลาไทย

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ประธานเฟดมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนก.พ. และอีกครั้งในเดือนก.ค.

นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

การแถลงของนายพาวเวลในสัปดาห์นี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเขาอาจส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังจากที่รายงานการประชุมของเฟดประจำเดือนมิ.ย.ระบุว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงิน QE พร้อมกับส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมถึง 1 ปี และเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีดังกล่าว

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะเริ่มปรับลด QE ในเดือนม.ค.2565 โดยจะปรับลดวงเงิน QE เดือนละ 20,000 ล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่เฟดดำเนินมาตรการ QE วงเงิน 120,000 ล้านดอลลาร์/เดือน ซึ่งจะทำให้เฟดใช้เวลา 6 เดือนในการปรับลด QE จนเหลือ 0 หมายความว่าเฟดจะยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในช่วงกลางปี 2565 และเฟดจะพักการดำเนินการเป็นเวลา 1 ปีเพื่อให้ตลาดปรับตัว ก่อนที่จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ