ดาวโจนส์ดิ่งกว่า 200 จุด หลังเฟดส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 1, 2022 21:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 200 จุดในวันนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทร่วงลงในวันนี้ ก่อนปิดทำการในวันจันทร์ที่ 4 ก.ค. เนื่องในวันชาติสหรัฐ

ณ เวลา 21.32 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 30,523.14 จุด ลบ 252.29 จุด หรือ 0.82%

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 11.3% ในไตรมาส 2 ขณะที่ S&P 500 ร่วงลงมากกว่า 16% ทำสถิติปรับตัวย่ำแย่ที่สุดเทียบรายไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 ส่วน Nasdaq ทรุดตัวลง 22.4% ทำสถิติย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงมากกว่า 15% ในช่วงครึ่งปีแรก ส่วน S&P 500 ร่วงลงมากกว่า 20% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบกว่า 50 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2513 ขณะที่ Nasdaq ทรุดตัวลงเกือบ 30%

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทถูกกดดันในปีนี้ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอยได้ใกล้เป็นความจริง หลังจากที่เฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มหดตัว 1.0% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มขยายตัว 0.3%

ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 หดตัว 1.6% ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2 ก็จะทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวยืนยันว่า เฟดมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ แม้การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะไม่สร้างความเสี่ยงที่รุนแรง

"เรามีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เรามีเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลง ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็คือการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยง แต่ผมก็มองว่านี่ไม่ใช่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจ โดยความผิดพลาดมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นก็คือความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพต้านราคา" นายพาวเวลกล่าวในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จัดขึ้นที่โปรตุเกสในสัปดาห์นี้

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาคการผลิตของสหรัฐ หลังสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.9 จากระดับ 56.1 ในเดือนพ.ค.

ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขณะที่การจ้างงานปรับตัวลงเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ