ดาวโจนส์ร่วงต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งกว่า 200 จุด กังวลผลประกอบการวอลมาร์ท

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 26, 2022 23:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 200 จุด โดยได้รับผลกระทบจากการที่วอลมาร์ทปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ณ เวลา 22.56 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,766.78 จุด ลบ 223.26 จุด หรือ 0.7%

ราคาหุ้นของวอลมาร์ท อิงค์ ดิ่งลงกว่า 8% หลังจากที่บริษัทได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีนี้

การร่วงลงของหุ้นวอลมาร์ทได้ฉุดให้ราคาหุ้นกลุ่มค้าปลีกดิ่งลงในวันนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ วอลมาร์ท ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และได้รับการพิจารณาว่าเป็นบริษัทที่สามารถสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐ เปิดเผยว่า บริษัทปรับลดคาดการณ์ผลกำไรในไตรมาส 2 และตลอดปี 2565 เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อกำลังส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายสินค้าจำพวกเสื้อผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า และหันไปใช้จ่ายเฉพาะสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร

วอลมาร์ทคาดการณ์ว่า กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2 จะลดลงราว 8-9% และกำไรต่อหุ้นในปีงบการเงิน 2565 จะลดลงราว 11-13% จากเดิมที่คาดว่ากำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และกำไรต่อหุ้นในปี 2565 จะลดลงเพียง 1%

วอลมาร์ทมีกำหนดเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 16 ส.ค.

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทอัลฟาเบท และไมโครซอฟท์หลังปิดตลาดวันนี้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และ 2566 โดยเตือนว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่รุนแรงกว่าคาด รวมทั้งผลกระทบจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

ทั้งนี้ IMF เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในวันนี้ โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.2% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.9% ในปี 2566 โดยปรับลดลง 0.4% และ 0.7% ตามลำดับจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.

IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐสู่ระดับ 2.3% ในปี 2565 และ 1.0% ในปี 2566 ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัว 3.3% ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียสู่ระดับ 7.4% ในปีนี้

ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเริ่มขึ้นในวันนี้และเสร็จสิ้นในวันพรุ่งนี้ โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมรอบนี้

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค. หลังจากเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า GDP หดตัว 1.6% ในไตรมาส 1

ผลการสำรวจของสำนักข่าวดาวโจนส์ระบุว่านักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 1% ในไตรมาส 2

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่คาดการณ์ในวันที่ 15 ก.ค.ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.5%

ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ทั้งในไตรมาส 1 และ 2 ซึ่งแสดงว่าสหรัฐเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 27 ก.ค. ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค.

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 8.1% สู่ระดับ 590,000 ยูนิตในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 660,000 ยูนิต จากระดับ 642,000 ยูนิตในเดือนพ.ค.

เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 17.4% ในเดือนมิ.ย.

ยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากราคาบ้านในระดับสูง และการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง

ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลง 2.7 จุด สู่ระดับ 95.7 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดิ่งลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และความวิตกที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ