แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ประกาศเมื่อวันจันทร์ (21 ก.ค.) ว่าจะลงทุนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อขยายโรงงานผลิตและศูนย์วิจัยในสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ตอบสนองโดยตรงต่อนโยบายกดดันของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตยากลับมาเพิ่มการผลิตในประเทศและหลีกเลี่ยงมาตรการกำแพงภาษีที่อาจเกิดขึ้น
ปาสคาล โซริโอต์ ซีอีโอของบริษัทฯ เป็นผู้ประกาศการลงทุนครั้งนี้ที่กรุงวอชิงตัน โดยนับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของผู้ผลิตยารายใหญ่ที่ตอบสนองต่อนโยบายของปธน.ทรัมป์ซึ่งมุ่งส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ แผนการลงทุนนี้ครอบคลุมถึงการสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ในรัฐเวอร์จิเนีย และการขยายศักยภาพด้านการวิจัย พัฒนา และเซลล์บำบัดในรัฐแมริแลนด์ แมสซาชูเซตส์ แคลิฟอร์เนีย อินเดียนา และเท็กซัส
โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งหน่วยงานของเขากำลังตรวจสอบการนำเข้ายา กล่าวสนับสนุนการตัดสินใจครั้งนี้ โดยระบุว่าเป็นผลโดยตรงจากนโยบายของรัฐบาล
"เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ชาวอเมริกันต้องพึ่งพาการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นจากต่างประเทศ นโยบายของปธน.ทรัมป์และมาตรการภาษีใหม่ของประเทศเรามุ่งมั่นที่จะแก้ไขจุดอ่อนเชิงโครงสร้างนี้" ลุตนิกระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยแอสตร้าเซนเนก้า
บริษัทฯ ยอมรับว่าทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อจังหวะเวลาและสถานที่ในการประกาศแผนลงทุนครั้งนี้ แม้ระบุว่าการลงทุนบางส่วนเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับยาในอนาคต
โซริโอต์กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าประเทศอื่น ๆ ควรเข้ามามีส่วนร่วมในต้นทุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้มากขึ้น "สหรัฐฯ ไม่สามารถแบกรับต้นทุนด้าน R&D ให้กับคนทั้งโลกแต่เพียงผู้เดียวได้" โซริโอต์กล่าว
การขยายธุรกิจครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้แอสตร้าเซนเนก้าสามารถสร้างรายได้ต่อปีแตะระดับ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 โดยคาดว่าครึ่งหนึ่งของรายได้จะมาจากตลาดสหรัฐฯ คำมั่นสัญญาครั้งนี้เป็นการลงทุนเพิ่มเติมจากแผนลงทุนมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ที่บริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนแห่งนี้เคยประกาศไว้เมื่อเดือนพ.ย. 2567
การประกาศลงทุน 5 หมื่นล้านดอลลาร์นี้ มีมูลค่าทัดเทียมกับคำมั่นสัญญาของโรช (Roche) คู่แข่งจากสวิตเซอร์แลนด์ที่ประกาศไปเมื่อเดือนเม.ย. และเกิดขึ้นหลังจากที่ อีไล ลิลลี่ แอนด์ โค (Eli Lilly & Co), จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson), โนวาร์ตีส (Novartis) และซาโนฟี่ (Sanofi) ได้ประกาศแผนลงทุนใหม่ในสหรัฐฯ ไปก่อนหน้านี้
ปธน.ทรัมป์ได้เรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตยาหันมาผลิตยาภายในประเทศมากขึ้น และขู่ว่าจะใช้มาตรการกำแพงภาษีกับอุตสาหกรรมยา แม้ว่าเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เขาส่งสัญญาณว่าบริษัทต่าง ๆ จะมีเวลาปรับตัวประมาณ 12 ถึง 18 เดือน ก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ก็ตาม
สำหรับโรงงานแห่งใหม่ในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ จะทำหน้าที่ผลิตสารออกฤทธิ์ (active ingredients) สำหรับยาลดน้ำหนักที่อยู่ระหว่างการทดลองและยาควบคุมคอเลสเตอรอล
แอสตร้าเซนเนก้าระบุว่า การลงทุนครั้งนี้คาดว่าจะสร้างงานใหม่ได้หลายหมื่นตำแหน่ง แต่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่แน่ชัด ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานในสหรัฐฯ ประมาณ 18,000 คน
นอกจากนี้ ในงานประกาศยังมี เกลนน์ ยังคิน ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นพันธมิตรคนสำคัญของทรัมป์เข้าร่วมด้วย