ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก ขานรับเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 9, 2017 07:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 พ.ค.) ขานรับถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์และคลีฟแลนด์ ที่สนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกระตุ้นกระแสคาดการณ์ในตลาดว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนหน้า

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0931 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0988 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2947 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2963 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงที่ระดับ 0.7388 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7413 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 113.03 เยน จากระดับ 112.64 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9983 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9875 ฟรังก์สวิส

ดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น ภายหลังจากนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่า เฟดควรจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเฟดได้บรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงานเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวใกล้เป้าหมาย 2% ของเฟด ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐยังมีความอ่อนแอ

นางเมสเตอร์ระบุว่า เฟดไม่ควรมีปฏิกริยามากเกินไปต่อความเคลื่อนไหวเพียงชั่วคราวที่เกิดจากข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผย พร้อมกับกล่าวว่า ตนจะสนับสนุนการปรับลดวงเงินของพันธบัตรมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในพอร์ทฟอลิโอของเฟด

คำกล่าวของนางเมสเตอร์ได้เพิ่มน้ำหนักให้กับกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า หลังจากปรับขึ้นในเดือนมี.ค. และคาดว่าจะปรับขึ้นอีกครั้งก่อนสิ้นปี

ขณะที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ระบุว่า การที่อุปสงค์ในสินทรัพย์ปลอดภัยขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตลาดแรงงานเกิดภาวะตึงตัวเช่นนี้ อาจทำให้เฟดพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้

ทั้งนี้ CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสสูงถึง 87.7 ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมี.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย., ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมี.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนพ.ค.โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ