ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก เหตุวิกฤตค่าเงินตุรกีหนุนแรงซื้อดอลล์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 14, 2018 07:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนแห่เข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการร่วงลงของค่าเงินตุรกี และผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.67 เยน จากระดับ 110.61 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9936 ฟรังก์ จากระดับ 0.9948 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1392 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1397 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2751 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2760 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7260 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7289 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย อันเนื่องมาจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ค่าเงินตุรกี โดยค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงอย่างหนักตั้งแต่วันศุกร์และอ่อนค่าลงเรื่อยมาจนถึงเมื่อวานนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตุรกี และผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ทั้งนี้ สกุลเงินลีราร่วงลงหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า โดยอัตราภาษีต่อเหล็กนำเข้าจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมอยู่ที่ 20% นอกจากนี้ ค่าเงินตุรกียังถูกกดดัน หลังจากที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวเรียกร้องให้ชาวตุรกีแปลงสกุลเงินดอลลาร์และทองคำให้อยู่ในรูปสกุลเงินลีรา

ส่วนสกุลเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลว่า การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึง ยอดค้าปลีกเดือนก.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนส.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรม-การใช้กำลังการผลิตเดือนก.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมิ.ย., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนก.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ