ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบค่าเงินหลัก หวั่นพิษตลาดบอนด์กระทบเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 5, 2018 08:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว และมักบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะตามมา

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 112.81 เยน จากระดับ 113.68 เยน อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9974 ฟรังก์ จากระดับ 0.9988 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3247 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3210 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1341 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1342 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2717 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2726 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7337 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7348 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.07% แตะระดับ 96.9680 เมื่อคืนนี้

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงไม่มากนัก เนื่องจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนนี้ ทำให้นักลงทุนบางส่วนหันมาซื้อเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่า อย่างไรก็ดี นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐอันเป็นผลจากภาวะ inverted yield curve มากกว่า ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในท้ายที่สุด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปี

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับตัวค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด และเจ้าหน้าที่เฟดทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ในทางกลับกัน อัตราเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยกำหนดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว โดยนักลงทุนจะทำการคาดการณ์ว่าพวกเขาควรจะได้รับการชดเชยมากกว่าเงินเฟ้อเท่าใดในการถือครองพันธบัตรเป็นเวลาหลายปี

ผลการศึกษาของบริษัท Bespoke พบว่า การเกิดภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตร ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว จะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะตามมา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2533, 2544 และ 2550


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ