ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่าเทียบยูโร,เยน รับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสดใส

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 2, 2019 07:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรและเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 เม.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส ซึ่งรวมถึงดัชนีภาคการผลิตสหรัฐที่ขยายตัวสูงกว่าคาดในเดือนมี.ค. ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกระบวนการที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.36 เยน จากระดับ 110.82 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9989 ฟรังก์ จากระดับ 0.9960 ฟรังก์ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3310 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3355 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.1211 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1214 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3125 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3003 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7112 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7097 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ โดยโดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน อยู่ที่ระดับ 50.8 ในเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.9 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นหลังจากที่หดตัวติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน

ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 55.3 ในเดือนมี.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.5 หลังจากแตะระดับ 54.2 ในเดือนก.พ.

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างของสหรัฐพุ่งขึ้น 1.0% ในเดือนก.พ. แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน ขณะที่สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.5% และยอดค้าปลีกเดือนก.พ.ของสหรัฐลดลง 0.2% สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่ายอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น 0.3%

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ