ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก วิตกทิศทางศก.สหรัฐหลังภาคการผลิตหดตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 4, 2019 07:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากผลสำรวจบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ขณะที่เงินปอนด์ดีดตัวขึ้นหลังจากพรรครัฐบาลของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้สูญเสียเสียงข้างมากในสภา ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แบบไม่มีข้อตกลง

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.99 เยน จากระดับ 106.19 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9874 ฟรังก์ จากระดับ 0.9904 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3326 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3328 ดอลลาร์แคนาดา

เงินปอนด์ดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2085 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2067 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.0966 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0970 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6760 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6716 ดอลลาร์สหรัฐ

เงินปอนด์ดีดตัวขึ้นหลังจากพรรครัฐบาลของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้สูญเสียเสียงข้างมากในสภา ก่อนการลงมติครั้งสำคัญในรัฐสภา เนื่องจากนายฟิลิป ลี ซึ่งเดิมเป็นสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมของนายจอห์นสัน ได้ประกาศแปรพักตร์เข้าเป็นสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ส่งผลให้พรรคอนุรักษ์นิยมไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาสามัญชน

สำหรับผลการลงมติในรัฐสภาอังกฤษเมื่อคืนนี้ปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ รวมทั้งสมาชิก 21 รายที่แปรพักตร์จากพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ประสบความสำเร็จในการลงมติด้วยคะแนนเสียง 328 ต่อ 301 เสียง ในการเข้าควบคุมกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา

ความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลจากการลงมติเมื่อคืนนี้ จะทำให้ฝ่ายค้านสามารถสกัดความพยายามของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ในการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 31 ต.ค. โดยไม่มีการทำข้อตกลง

ส่วนสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 49.1 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2559 จากระดับ 51.2 ในเดือนก.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากภาคธุรกิจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงในเดือนส.ค.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.7% ในเดือนมิ.ย. ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค.

ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.3 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552 จากระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดุลการค้าเดือนก.ค., ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนส.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ