ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่า เหตุนลท.ขายจากวิตกความขัดแย้งสหรัฐ-จีน,ข้อมูลศก.อ่อนแอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday May 30, 2020 08:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์จากความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีน และหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.06% สู่ระดับ 98.3271 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9617 ฟรังก์ จากระดับ 0.9634 ฟรังก์ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.79 เยน จากระดับ 107.64 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3777 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3760 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1102 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1089 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6664 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6658 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าแตะที่ระดับ 1.2327 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2340 ดอลลาร์

นักลงทุนขายดอลลาร์จากความวิตกเกี่ยวกับการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศมาตรการตอบโต้จีน หลังจากที่จีนเตรียมบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน หลังได้แรงหนุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ประกาศเมื่อต้นสัปดาห์นี้

การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 วงเงิน 7.50 แสนล้านยูโรได้หนุนความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจยูโรโซน

ดอลลาร์ยังถูกกดดัน หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐ ดิ่งลง 13.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2502 และย่ำแย่กว่าสถิติเดิมที่ 6.9% ที่ทำไว้ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลง 12.6%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยด้วยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ลดลง 0.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการดิ่งลงมากที่สุดในรอบกว่า 5 ปี หลังจากลดลง 0.3% ในเดือนมี.ค. ขณะที่ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ลดลง 0.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2544 หลังจากทรงตัวในเดือนมี.ค.

ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 72.3 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 71.8 ในเดือนเม.ย. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 74.0


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ