ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก หลังเฟดส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยต่ำ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 1, 2020 07:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 ส.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นเวลาหลายปี ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนนายชินโซ อาเบะ จะยังคงเดินหน้านโยบาย "อาเบะโนมิกส์" ต่อไป

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.23% แตะที่ 92.1605 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9032 ฟรังก์ จากระดับ 0.9050 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3027 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3094 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 105.87 เยน จากระดับ 105.41 เยน

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1935 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1890 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3376 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3341 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7387 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7356 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกหลายปี

ส่วนเงินเยนอ่อนค่าลงจากการคาดการณ์ที่ว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนนายชินโซ อาเบะ จะยังคงเดินหน้านโยบาย "อาเบะโนมิกส์" ต่อไป โดยที่ผ่านมา เยนอ่อนค่ามานานหลายปี เพราะถูกกดดันภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายอาเบะ หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "อาเบะโนมิกส์" เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด โดยเขาให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ พร้อมกับการกระตุ้นทางการคลัง และปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 1.255 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค.

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ค., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.จาก ADP, ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนก.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากมาร์กิต และดัชนีภาคบริการเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ