ผลศึกษายัน inverted yield curve ในตลาดบอนด์บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีต

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 5, 2018 02:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลการศึกษาของบริษัท Bespoke พบว่า การเกิดภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตร ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว จะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะตามมา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2533, 2544 และ 2550

Bespoke เปิดเผยว่า ในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งแรกนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 ปีปรับตัวสูงกว่าพันธบัตรอายุ 5 ปี และหลังจากนั้น 26.3 เดือน ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2533

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปี

ณ เวลา 01.45 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.795% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.777%

ขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.896% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.143%

ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับตัวค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด และเจ้าหน้าที่เฟดทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ในทางกลับกัน อัตราเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยกำหนดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว โดยนักลงทุนจะทำการคาดการณ์ว่าพวกเขาควรจะได้รับการชดเชยมากกว่าเงินเฟ้อเท่าใดในการถือครองพันธบัตรเป็นเวลาหลายปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ