Xinhua's Interview: ผู้เชี่ยวชาญชี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ในการเลือกตั้งฝรั่งเศส เหตุทิศทางการเมืองไม่แน่นอน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 21, 2017 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมดานี เชอร์ฟา เลขาธิการใหญ่ศูนย์การวิจัยทางการเมืองแห่งสถาบันการศึกษาด้านการเมืองของกรุงปารีส (Science Po) เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัว ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 เม.ย. นี้ว่า จากผลการสำรวจล่าสุดพบว่ายังคงมีประชาชนถึง 34% ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะออกไปใช้สิทธิ์หรือไม่ เพราะฉะนั้นอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยิ่งไปกว่านั้นการคาดการณ์ที่ว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์น้อยลงเป็นประวัติการณ์ยังส่งผลให้การเลือกตั้งในครั้งนี้คาดเดาได้ยาก

"ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่ามีเพียง 72% จาก 77% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่จะออกมาใช้สิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่อัตราปกติของผู้ใช้สิทธิ์ควรอยู่ระหว่าง 78 - 80%" เชอร์ฟากล่าว

ทั้งนี้ จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา นายเชอร์ฟาระบุว่าโดยปกติแล้วช่วงกลางเดือนมี.ค. ผลสำรวจจะสามารถชี้ชัดได้ว่าผู้สมัครรายใดที่มีความโดดเด่น ทว่าในปีนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น

อนึ่ง ผลการสำรวจระบุว่านายเอมมานูเอล มาครอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจที่มีแนวคิดสายกลาง, นางมารีน เลอเปน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรค National Front (FN) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชูนโยบายประชานิยมขวาจัด และหนุนให้ฝรั่งเศสแยกตัวจากสหภาพยุโรป, นายฌอง ลุค เมลองชอง ผู้นำขบวนการ La France insoumise (FI) และมีแนวคิดสนับสนุนฝ่ายซ้าย รวมถึงนายนายฟรองซัวส์ ฟิยง อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส จากพรรค Les Republicains คือ 4 ตัวเต็งในการเลือกตั้งครั้งนี้

โดยผู้สมัคร 2 รายที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในการเลือกตั้งรอบแรกจะผ่านเข้าไปในการเลือกตั้งรอบ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค. นี้ สำหรับกรณีที่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งได้คะแนนเสียงมากกว่า 50% ของผู้ที่มาลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบแรก เขาหรือเธอผู้นั้นถือว่าชนะการเลือกตั้งโดยที่ไม่ต้องจัดการเลือกตั้งรอบ 2

"มีแนวโน้มว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจโหวตให้ใครก็ได้ยกเว้นผู้สมัครที่พวกเขาต่อต้าน ซึ่งยิ่งทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้มีความไม่แน่นอนสูง" เชอร์ฟากล่าว พร้อมแสดงทรรศนะว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองของฝรั่งเศสไป เนื่องจากไม่มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ทว่าเป็นการแข่งขันอันดุเดือดของพรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษ์นิยม

นอกจากนี้ นายเชอร์ฟายังเปิดเผยอีกด้วยว่า บรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรู้สึกแปลกแยกเกี่ยวกับผู้นำทางการเมือง "จากการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า 82% ของผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งออกปากว่าบรรดาผู้นำทางการเมืองนั้นไม่มุ่งมั่นแก้ปัญหา ทว่าคิดแต่เรื่องของตัวเอง ความรู้สึกดังกล่าวยิ่งส่งผลให้การเลือกตั้งในครั้งนี้หาความแน่นอนไม่ได้"

เชอร์ฟาอ้างถึงกรณีที่เมลองชองได้รับความนิยมมากขึ้นว่าเป็นผลมาจากพรสวรรค์ในการพูด และการที่เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหัวเอียงซ้าย

"เมลองชองมีทักษะในการพูดแทนคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม ซึ่งบิดาของนางมารีน เลอเปน เคยใช้กลยุทธ์นี้มาอย่างยาวนานและรับช่วงต่อโดยลูกสาวของเขาเอง ส่วนในตอนนี้ก็เป็นทีของเมเลชองบ้าง" เชอร์ฟากล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายการผลักดันประชานิยมในสหภาพยุโรป (EU) ของนางเลอเปน เชอร์ฟาเชื่อว่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่อำนาจ ดังเช่นในประเทศออสเตรีย, เนเธอร์แลนด์ รวมถึงที่สามารถเกิดขึ้นได้ในฝรั่งเศสด้วย

"การผลักดันประชานิยมในสหภาพยุโรปสามารถอธิบายด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า มันไม่สามารถแก้ปัญหาการว่างงานและวิกฤติเศรษฐกิจได้"

เชอร์ฟากล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากมีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อคำพูดของสหภาพยุโรป แต่กลับมีทัศนคติเชิงลบต่อการทำงาน "บรรดาผู้ที่ได้รับประโยชน์จากยุคโลกาภิวัตน์รู้สึกว่าสหภาพยุโรปมีความเป็นธรรม ในขณะที่คนอื่นๆ รู้สึกตรงกันข้าม"

สำหรับเชอร์ฟาแล้ว ประเด็นประชานิยมมีความละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นการแสดงออกของประชาชน "ผู้สมัครที่ฝักใฝ่ประชานิยมต้องการลบล้างอดีตเพื่อให้คำมั่นในอนาคตโดยไม่คำนึงถึงความซับซ้อนของความเป็นจริง" เขากล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ