Analysis: สถาบันการเงินตปท.คาดตามรอยธนาคารกลางสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางซื้อขายเงินหยวน

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 8, 2013 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศอื่นๆที่มีเครือข่ายสินเชื่อสกุลเงินหยวนขนาดเล็ก จะเดินตามรอยธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดหาสภาพคล่องสกุลเงินหยวน เนื่องด้วยหวังผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว

แบงก์ชาติสิงคโปร์เริ่มสรรหาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อการค้าในโครงการจัดหาสภาพคล่องสกุลเงินหยวนของธนาคาร ด้วยการสรรหาสภาพคล่องสกุลเงินหยวนที่ได้มาตรฐานระยะเวลา 3 เดือน พร้อมอัตราดอกเบี้ย SHIBOR ระยะเวลา 3 เดือน เพื่อกระตุ้นการทำธุรกรรมข้ามแดนด้วยเงินหยวนภายในประเทศ

ในระหว่างการดำเนินงาน ธนาคารกลางสิงคโปร์จะให้บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางจีน เพื่อให้สามารถเข้าถึงกองทุนสกุลเงินหยวนภายในประเทศ หลังจากนั้นจะให้ธนาคาร และลูกค้าในประเทศกู้ยืมเงินจากกองทุนดังกล่าวเพื่อใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการซื้อ-ขายต่างๆ

การจัดหาสภาพคล่องนี้ จะมีอายุ 3 เดือน เมื่อครบกำหนดชำระ ธนาคารในประเทศจะชำระคืนเงินสกุลหยวน และดอกเบี้ยให้แก่ ธนาคารกลางสิงคโปร์ ก่อนที่จะส่งคืนให้ธนาคารกลางจีนอีกที

โครงการของ MAS เกิดขึ้นในช่วงที่สภาพคล่องสกุลเงินหยวนของสิงคโปร์ยังมีขนาดเล็ก ขณะที่ความต้องการเงินหยวนของธุรกิจท้องถิ่นในสิงคโปร์มีมากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากธนาคารกลางสิงคโปร์ได้เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระดับทวิภาคีร่วมกับธนาคารจีนเมื่อเดือนมีนาคม 2556 โดยมีมูลค่าโครงการถึง 3 แสนล้านหยวน

เมื่อสิ้นสุดโครงการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน บริษัทต่างๆในสิงคโปร์หันมาใช้เงินหยวนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากมูลค่า และปริมาณของบัญชีธนาคารในสิงคโปร์ที่เปิดในสกุลเงินหยวนมีเพิ่มมากขึ้น

ดังเช่น ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ ธนาคารยักษ์ใหญ่ลำดับที่ 3 ของสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้เปิดบัญชีในสกุลเงินหยวนเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกถึง 80% และมีมูลค่าการทำธุรกรรมในสกุลเงินหยวนเพิ่มขึ้นกว่า 30%

สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ โกลบอล รีเสิร์ช (SCGR) เชื่อมั่นว่า โครงการของธนาคารกลางสิงคโปร์จะช่วยกระตุ้นการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อการค้าด้วยการใช้สกุลเงินหยวนภายในสิงคโปร์ เพื่อสรรหาสภาพคล่องให้แก่ธนาคารต่างๆที่ทำข้อตกลงทางการค้าด้วยเงินหยวน

ผลสำรวจจาก SCGR ระบุว่า ปัจจุบัน การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการค้าถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของการให้สินเชื่อสกุลเงินหยวนแก่ผู้ที่ใช้สกุลเงินหยวนในต่างประเทศ

SCGR ระบุ "สถาบันทางการเงินหลายแห่งอาจจะเดินตามรอยโครงการบริหารจัดการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศกับจีนเหมือนกับโครงการของธนาคารกลางสิงคโปร์ เนื่องจากโครงการของ MAS สามารถตอบสนองความต้องการเงินหยวนที่สูงขึ้นในการทำธุรกรรมข้ามแดน แม้ก่อนหน้านี้ เครือข่ายสภาพคล่องสกุลเงินหยวนในประเทศจะเข้าขั้นวิกฤตมาแล้วก็ตาม"

วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการขยายธุรกิจโดยใช้สกุลเงินหยวนในต่างประเทศสำหรับสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ยังไม่มีเครือข่ายสภาพคล่องสกุลเงินหยวน คือ การสรรหาแนวทางที่ดีกว่าเดิมในการใช้บริการบริหารจัดการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศของธนาคารกลางจีนตามข้อตกลงสว็อปไลน์แบบทวิภาคี เพื่อสนับสนุนความต้องการเงินทุนในต่างประเทศ

การเลียนแบบโครงการของธนาคารกลางสิงคโปร์ จะช่วยให้ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆสามารถดึงดูดธุรกิจต่างชาติที่ใช้สกุลเงินหยวนในต่างประเทศได้มากขึ้น SCGR ระบุว่า ข้อดีอีกประการหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ สถาบันการเงินในประเทศที่ให้บริการสกุลเงินหยวนในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องมีบริการเพื่อจัดหาสภาพคล่องอยู่ก่อน

ธนาคารกลางจีนได้ลงนามสัญญาแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศแบบทวิภาคี 21 ฉบับ ซึ่งมีมูลค่า 2.2 ล้านล้านหยวน โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินหยวนระหว่างประเทศ แต่ยังมีปริมาณการใช้งานไม่มากนัก จนถึงขณะนี้นั้น มีเพียงฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ที่ประกาศให้บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศด้วยเงินหยวน (1 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่ากับ 6.127 หยวน)

ตัน ฉี หมิง จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ