China Focus: นักวิชาการชี้การปฏิรูปของจีนอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 12, 2013 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการชาวจีนระบุว่า จีนจำเป็นต้องดำเนินการการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และรัฐบาลครั้งสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงในด้านต่างๆของประเทศ และหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้

ฉี ฟู่หลิน ประธานสถาบันปฏิรูปและพัฒนาของจีนในเขตไฮกุ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่า ความก้าวหน้าจากการปฏิรูปครั้งสำคัญนี้จะทำให้จีนมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า หากไม่ทำเช่นนั้น ความเสี่ยงด้านสังคม และเศรษฐกิจที่มีเพิ่มมากขึ้นจะกลายเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดสำหรับจีน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

เขาระบุว่า "การปฏิรูปกลายเป็นกุญแจสำคัญสู่การเปิดโอกาสทางการพัฒนาในอนาคตของจีน"

การประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) สมัยที่ 18 เริ่มเปิดฉากไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดลงในวันนี้ การประชุมดังกล่าวจะมีการพิจารณาร่างคำตัดสินใจของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเรื่อง "การปฏิรูปเชิงลึกที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ"

นายฉีกล่าวว่า "การปฏิรูปเศรษฐกิจควรจะมุ่งเป้าไปที่การทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และตลาดเป็นไปอย่างชัดเจน เพื่อกระตุ้นความคึกคักให้กับตลาด เราควรเปลี่ยนเป้าหมายในอดีตจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มาเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเสมอภาค"

เขายังเตือนอีกว่า ความล่าช้าอาจจะทำให้ความเสี่ยงทางสังคม และเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ การปฏิรูปสังคม และเศรษฐกิจนั้น ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงบทบาทและกลไกของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการตลาด

"การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐควรจะมุ่งเน้นไปที่การให้บริการสาธารณะให้มากขึ้น"

นับตั้งแต่การประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 11 ที่เดินหน้าการปฏิรูป และการเปิดกว้างเมื่อปี 2521 การประชุมครั้งที่ 3 ในปีนี้ก็ได้มีการนำประเด็นการปฏิรูป และการเปิดกว้างมาเป็นวาระสำคัญเช่นกัน

ความสำเร็จครั้งสำคัญที่สุดของการปฏิรูปประเทศจีนเมื่อกว่า 35 ปีก่อน กลายเป็นหนทางสู่การตอบสนองความต้องการของประชาชนจำนวนมากของจีน

เขากล่าวว่า "ปัจจุบัน ประชาชนต้องการคุณภาพการศึกษา การดูแลสุขภาพ งาน การอุปโภคบริโภค และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น"

"ประชาชนพอใจกับเนื้อในชามของตนเอง แต่พวกเขายังคงบ่นว่าเมื่อวางตะเกียบลง หากรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านบริการ และสินค้าสาธารณะที่ดีขึ้นได้ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการเปลี่ยนแปลงบทบาทของรัฐบาลอาจจะถูกบ่อนทำลายลงได้ทั้งหมด"

ฉี ฟู่หลิน ระบุว่า"การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องสัมพันธ์กับความต้องการของสังคม" ผู้ทำแบบสำรวจยืนยันว่า "จีนมี 'จิตใจที่แข็งแกร่ง' เราจะดึงความแข็งแกร่งนั้นออกมาได้อย่างไร ด้วยการปฏิรูป"

ประชาชนชาวจีนจำนวนมากเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบทะเบียนภาคครัวเรือน และระบบที่ดิน

เขากล่าวว่า ระบบในปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ

"หูกุ" หรือระบบทะเบียนครัวเรือนเกี่ยวข้องกับสถานที่อยู่อาศัยของบุคคล และถูกนำมาใช้เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ และสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ระบบดังกล่าวจึงกีดกันแรงงานย้ายถิ่นนับล้านคนในการเข้าถึงบริการที่เท่าเทียมกันในเมืองต่างๆ

ในด้านการพัฒนาสังคมเมือง และอุตสาหกรรมของจีนนั้น เกษตรกร 260 ล้านคนได้ย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองต่างๆเพื่อหางานทำ พื้นที่ทำการเกษตรที่ได้มีการทำสัญญาของพวกเขาตกเป็นของพ่อแม่ ไม่ก็ให้คนอื่นเช่า หรือรัฐบาลนำไปใช้ก่อสร้าง

การพัฒนาสังคมเมืองถือเป็นกำลังสำคัญในการขยายอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่การปฏิรูป "หูกุ" ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ

นอกจากนี้ การปฏิรูประบบที่ดินยังเป็นประเด็นสำคัญในเขตพื้นที่ชนบทอีกด้วย ฉี ฟู่หลินกล่าวว่า ระบบสัญญาที่ดินการเกษตรจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป

ยิ่งไปกว่านั้น ฉี ฟู่หลิน ยังได้เน้นย้ำถึงเหตุจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับผลผระโยชน์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลบางกลุ่ม ผู้ที่ต่อต้านการปฏิรูป

เขาระบุว่า ความพยายามของจีนที่จะเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ และการพัฒนาสังคมเมืองของประชาชนชาวจีนในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นประโยชน์ต่อทั่วโลก

"อุปสงค์ภายในประเทศจีนจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลก และจีนจะมีบาบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก" สำนักข่าวซินหัวรายงาน

แท็ก China Focus   ซินหัว   china  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ