Analysis: รูเบิลร่วงกดดันศก.รัสเซีย ท่ามกลางการคว่ำบาตร,ราคาน้ำมันที่ดิ่งลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 24, 2014 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าของสหรัฐเปิดเผยว่า สกุลเงินรูเบิลรัสเซียที่อ่อนค่าลงอย่างหนักได้สร้างแรงกดดันมากขึ้นต่อต่อเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจรัสเซียที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก จะหดตัวลงราว 5% ในปีหน้า หากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวที่ราว 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สกุลเงินรูเบิลได้ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงกลางเดือนธ.ค. และได้ดิ่งลงกว่า 45% เทียบดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนม.ค. โดยนับเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในโลกในปีนี้ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจรัสเซียที่ไม่สดใสส่งผลให้บรรดานักลงทุนเทขายเงินรูเบิล

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 17% จากเดิม 10.5% เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและสกัดการร่วงลงของเงินรูเบิล อย่างไรก็ตาม แทนที่มติดังกล่าวจะช่วยพลิกผันแนวโน้มขาลงของรูเบิล แต่กลับสร้างความหวาดวิตกแก่ตลาดมากขึ้น จนส่งผลให้เงินรูเบิลที่ย่ำแย่อยู่แล้วอ่อนค่าลงต่อเนื่องแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 80 รูเบิลเทียบดอลลาร์ จากค่าเฉลี่ยที่ 30 รูเบิลในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้

นายฮัง ทราน กรรมการบริหารของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IFF) ซึ่งเป็นสมาคมชั้นนำระดับโลกที่มีสถาบันการเงินราว 500 แห่งเป็นสมาชิก เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า การร่วงลงของเงินรูเบิลนั้นเป็นผลมาจาก "หลายปัจจัยประกอบกัน" เช่น การร่วงลงอย่างหนักของราคาน้ำมัน ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซีย การชะลอตัวของตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง

นายทรานเปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สร้างความประหลาดใจนั้น "ไม่สามารถหนุนค่าเงินรูเบิล" แต่สกุลเงินรูเบิลดูเหมือนว่า "มีเสถียรภาพ" ที่ราว 60 รูเบิลต่อดอลลาร์ หลังจากที่ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศมาตรการใหม่ๆเพื่อหนุนค่าเงินรูเบิล รวมถึงการใช้จ่ายทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากถึง 7 พันล้านดอลลาร์

เขากล่าวว่า "ตัวเลขดังกล่าวนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองที่ธนาคารกลางรัสเซีย แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลพร้อมประสานงานกับธนาคารกลางเพื่อหนุนเงินรูเบิล"

หากมาตรการปัจจุบันไม่สามารถสกัดการร่วงลงของเงินรูเบิลได้ นายทรานคาดว่า รัฐบาลรัสเซียอาจเข้าไปควบคุมเงินทุนเพื่อหนุนค่าเงินรูเบิล

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้กล่าวว่า "มาตรการหนึ่งที่ถูกหยิบยกและหารือนั้นได้แก่การกำหนดให้กลุ่มผู้ส่งออกรัสเซีย ขายสกุลเงินต่างประเทศที่เป็นผลประกอบการที่ได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ให้แก่ธนาคารกลางรัสเซียภายในกรอบเวลาที่กำหนด"

อย่างไรก็ตาม แอนเดอร์ส อัสลุนด์ ผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียและสมาชิกอาวุโสประจำสถาบันปีเตอร์สันว่าด้วยเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตันดีซี กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "รัฐบาลรัสเซียไม่ต้องการเข้าไปควบคุมสกุลเงิน เนื่องด้วยประสบการณ์ด้านนโยบายที่ผ่านๆมา ประกอบกับกระแสเงินทุนไหลออกอย่างมหาศาล โดยยังคงมีการควบคุมเงินทุนจนถึงปี 2549 ขณะที่มีความเป็นไปได้ในการควบคุมเงินทุน แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย"

นายอัสลุนด์ กล่าวว่า "ผมไม่คิดว่าแบงก์ชาติจะช่วยอะไรได้มาก แม้ว่าอาจจะช่วยสร้างเสถียรภาพได้บ้าง แต่ปัญหาพื้นฐานก็คือนโยบายเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รวมถึงราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างหนักและมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินจากชาติตะวันตก" พร้อมเสริมว่า เศรษฐกิจรัสเซียยังคงต้องพึ่งพาพลังงาน เนื่องจากน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาลกลาง และคิดเป็น 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ นายทรานยังได้เตือนว่า "มาตรการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งของธนาคารกลางรัสเซีย" จะไม่เพียงพอที่จะหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเงินรูเบิล เว้นแต่ว่าราคาน้ำมันเริ่มดีดตัวขึ้น มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการเงิน และเศรษฐกิจรัสเซียเริ่มฟื้นตัว

การร่วงลงอย่างหนักของเงินรูเบิลได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อบริษัทรัสเซีย ซึ่งมีรายได้ในรูปสกุลเงินรูเบิลแต่ต้องชำระหนี้สินเป็นเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศอื่นๆ โดยมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น ได้ปิดกั้นสถาบันการเงินและบริษัทรัสเซียในการเข้าถึงตลาดเงินทุนระหว่างประเทศเกือบทั้งหมด

"มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินนั้นได้ผลเป็นอย่างยิ่ง โดยมีประสิทธิภาพมากกว่าที่คาดไว้ในช่วงเริ่มแรก ปัจจุบันไม่มีใครพร้อมที่จะให้รัสเซียเข้าไประดมทุน" นายอัสลุนด์ กล่าว "ทุกคนต่างหวาดกลัวกับหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของสหรัฐ จึงมีความระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่กระทำการใดๆที่อาจได้รับการพิจารณาว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรทางการเงิน"

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจรัสเซียขึ้นอยู่กับมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกและราคาน้ำมัน โดยนายทราน กล่าวว่า "ความคืบหน้าหรือไม่และอย่างไรเกี่ยวกับยูเครนในช่วงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้าจะมีความสำคัญในการพิจารณาว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว หรือจะเพิ่มการคว่ำบาตรรอบใหม่ ซึ่งจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจรัสเซีย"

หากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวที่ราว 60 ดอลลาร์/บาร์เรลในระยะยาว ซึ่งได้ร่วงลงเกือบ 50% นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. นายทรานคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของรัสเซียจะหดตัวลง 4-5% ในปีหน้า ซึ่งจะสอดคล้องกับคาดการณ์ของธนาคารกลางรัสเซียที่ 4.5-4.7%

นายอัสลุนด์มีมุมมองเชิงลบมากขึ้น โดยเขากล่าวว่า "รัสเซียจะเผชิญกับช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายอย่างหนัก" พร้อมประเมินว่ารายได้จากการส่งออกของรัสเซียจะปรับตัวลง 30% ขณะที่ยอดนำเข้าจะหดตัวลง 50% ในปีหน้า ส่วนเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเหนือระดับ 10% และจีดีพีจะหดตัว 5-10%

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ออกมายอมรับถึงผลกระทบด้านลบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ได้เปิดเผยในการแถลงข่าวประจำปีว่า เศรษฐกิจรัสเซียจะใช้เวลา 2 ปีเป็นอย่างมากในการฟื้นตัว ภายใต้ภาวการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ