China Focus: นักวิเคราะห์ชี้จีนลด RRR ช่วยหนุนเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2015 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว นับเป็นความพยายามที่จะบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้น และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ลง 0.25% มาอยู่ที่ 4.6% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับลดลง 0.25% เหลือ 1.75% พร้อมกันนี้ แบงก์ชาติจีนยังได้ปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลง 0.50%

ธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่า เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวลงต่อเนื่อง และตลาดการเงินโลกยังคงผันผวน การสร้างเสถียรภาพให้กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงเป็นงานหนักสำหรับจีน และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินที่มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

แบงก์ชาติจีนเสริมว่า การปรับลด RRR มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดต้นทุนการระดมทุนทางสังคม (social financing) และเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง

นายหม่า จุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักงานวิจัยของธนาคารกลางจีนกล่าวว่า "การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และสร้างเสถียรภาพให้กับคาดการณ์ในตลาด เนื่องจากการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ชะลอตัวลง"

อย่างไรก็ดี นายหม่าเสริมว่า "การปรับลด RRR ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของจีน" และอธิบายเพิ่มว่า จีนจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบรอบคอบ และคาดว่าการลด RRR ช่วยกระตุ้นให้สินเชื่อขยายตัวอย่างเหมาะสม"

ด้านนายเจิ้ง กัง นักวิจัยจากสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) ชี้ว่า การปรับตัวลงของเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ได้สร้างแรงกดดันต่อสภาพคล่องของธนาคารต่างๆ ของจีน

นายกังเชื่อมั่นว่า การลด RRR จะนำไปสู่การกระตุ้นสินเชื่อมากยิ่งขึ้นสำหรับส่วนที่ยังอ่อนแรงอยู่ ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้งหมด

นอกเหนือจากการลด RRR ธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่าจะใช้เครื่องมือใหม่อื่นๆ เพื่อสร้างสภาพคล่อง ประกอบด้วย การทำธุรกรรมการซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาจะขายคืน (reverse repurchase) โครงการปล่อยสินเชื่อระยะกลาง (Medium-term Lending Facility:MLF) และการจัดสรรเงินกู้แบบ Pledged Supplementary Lending (PSL)

ธนาคารกลางจีนระบุว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ถือเป็นการก้าวสู่การเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ย และนำไปสู่การยกระดับบริการทางการเงิน รวมถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัว 7% เมื่อเทียบรายปีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ทรงตัวจากไตรมาสแรก และมีอัตราการขยายตัวต่ำสุดรายไตรมาสนับตั้งแต่ปี 2552 สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ