Analysis: ผู้เชี่ยวชาญมอง FTA เอเชียแปซิฟิกจะนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 13, 2015 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญมองเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะนำไปสู่การผนึกกำลังกันทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมทุกประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งได้รับความเห็นชอบในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลงเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกปี 2557 ที่กรุงปักกิ่งของจีนนั้น กำลังอยู่ระหว่างการประเมินในขณะนี้ โดยมีกำหนดที่จะเสร็จสิ้นในปีหน้า

เขตการค้าเสรี FTAAP จะประกอบไปด้วยสมาชิกเอเปก 21 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลก ข้อตกลงดังกล่าวน่าจะการดำเนินการไม่เกินปี 2568 หากประเทศสมาชิกบรรลุข้อตกลง ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่ถึง 20 ปีหลังจากมีข้อเสนอครั้งแรก

ศาสตราจารย์ฟาริบอร์ซ โมชิเรียน ผู้อำนวยการสถาบันการเงินสากล แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปกภายใต้ FTAAP นี้ จะส่งผลดีต่อการค้าได้มากกว่าข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่สหรัฐเป็นแกนนำ แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกทุกประเทศร่วมมือกัน

การสร้างแบบจำลองเศรษฐกิจในปี 2557 แสดงให้เห็นว่า รายได้ที่ทั่วโลกได้รับจาก FTAAP จะสูงกว่าที่ได้รับจาก TPP เกิน 8 เท่า

"นี่เป็นสาเหตุหลักๆที่จีนเข้าร่วม (TPP ) ในตอนแรก แต่ถอนตัวในภายหลัง" เจมส์ ลอเรนซ์สัน รองผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียกล่าว

ศาสตราจารย์โมชิเรียนระบุว่า ตามหลักการแล้ว การเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงระดับภูมิภาคอย่าง FTAAP ที่มีการเสนอกันนี้ จะต้องผ่านกระบวนการขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะตัดสินโดยประเมินเศรษฐกิจเป็นหลัก

"นั่นถือเป็นเรื่องสำคัญ" โมชิเรียนระบุ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่การเจรจาการค้ารอบโดฮาของ WTO คว้าน้ำเหลวและหยุดชะงักไปเนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปให้ประเด็นที่มีความซับซ้อน ในขณะนี้ หลายๆชาติกำลังจัดตั้งกลุ่มการค้าระดับภูมิภาคขึ้นมา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทางการเมือง

"นี่เป็นธรรมชาติของธุรกิจ" โมชิเรียนกล่าว โดยระบุว่า WTO ที่มีประสิทธิภาพจะสามารถรวมชาติต่างๆเข้าไว้ด้วยกันได้

ขณะที่อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่สมาชิกเขตการค้าเสรีจะเผชิญก็คือ การต่อสู้กันระหว่างความเป็นชาตินิยมและโลกาภิวัตน์ ซึ่งนำไปสู่การกีดกันทางการค้าขนานใหญ่ ซึ่งเห็นได้ในระดับประเทศ หรือเป็นข้อตกลงทวิภาคี

"โซลูชั่นนี้จะต้องเป็นการรวมกลุ่มกันในระดับภูมิภาคมากมากขึ้น เหมือนที่เราเห็นในยุโรป" โมชิเรียนระบุ

"การค้าเสรีในกรณีที่ไม่มีการรวมกลุ่มกันของประเทศต่างๆ ก็เหมือนการสร้างชาตินิยม นี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมคุณจึงเห็นว่าทุกประเทศจะมีภาคอุตสาหกรรมบางส่วนที่มีความอ่อนไหวเกินกว่าที่ปล่อยให้เกี่ยวข้องกับการเมือง"

สำหรับข้อตกลง TPP เมื่อเร็วๆนี้ ที่มีสหรัฐเป็นแกนนำนั้น เป็นการสร้างกลุ่มการค้าของ 12 ประเทศทั่วทั้งภูมิภาคแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวถูกโจมตีว่าเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองของสหรัฐและขัดกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคแปซิฟิกในวงกว้าง

ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ การขจัดกำแพงการค้าย่อมต้องมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ประเด็นสำคัญในการบรรลุความสำเร็จคือ การมีกลไกที่เหมาะสมสำหรับการชดเชยในระยะใกล้

เมื่อมีการยกเลิกภาษีและกำแพงการค้าในการจัดตั้งยูโรโซนนั้น สมาชิกยูโรโซนต้องชดเชยให้แก่ผู้ที่เสียประโยชน์ในกระบวนการดังกล่าว

"การชดเชยนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนควรต้องจ่าย แต่ทุกประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ ควรจะสร้างระบบขึ้นมา ซึ่งเป็นระบบที่คุณสามารถจ้างงานคนงานที่ตกงานได้" โมชิเรียนกล่าว

"ถ้าการผลิตเหล็กกล้าของจีนมีประสิทธิภาพกว่าออสเตรเลีย ก็ควรฝึกฝนคนงานในออสเตรเลียให้ทำอย่างอื่น แนวคิดควรจะเป็นแบบนี้"

อย่างไรก็ตาม โมชิเรียนระบุว่า ในแง่การเมืองแล้ว การที่จีนและรัสเซียออกจาก TPP ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดีนัก

สำหรับคำถามที่ว่า FTAAP จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโต้ TPP หรือไม่นั้น ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า "โชคไม่ดีว่านี่แหละคือการขับเคลื่อนของโลก" พร้อมกับแสดงจุดยืนของตนเองอีกครั้งว่า การหารือทางการค้าที่ดีที่สุดคือเวทีการประชุม อย่างเช่น การประชุม WTO

โมชิเรียนระบุว่า จีนมีบทบาทสำคัญในด้านเสถียรภาพและความต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก

เม็ดเงินจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะออสเตรเลีย ซึ่งประวัติศาสตร์สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศจะไม่สามารถเติบโตได้เลยหากปราศจาคการลงทุนจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่ามักจะมีข้อกังขาอยู่เสมอเกี่ยวกับเงินกองทุนแห่งชาติ

"แต่ผมคิดว่าเราต้องยอมรับว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ กองทุนความมั่นคั่งแห่งชาติจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุน" ศาสตราจาร์ยโมชิเรียนกล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน

บทวิเคราะห์โดย แมท เบอร์เกส


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ