China Focus: จีนรุกเดินหน้าลงทุนอาเซียน หนุนความร่วมมือด้านกำลังผลิต รับเส้นทางสายไหมใหม่ภายใต้ Belt and Road Initiative

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 6, 2017 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาครัฐและเอกชนของจีนผนึกกำลังส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำเป็นตลาดสำคัญอันดับต้นๆ ของจีน มุ่งผลักดันความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิตระหว่างประเทศ ภายใต้ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐบาลจีนที่ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

เมื่อวันที่ 21 – 30 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา กรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศของจีน ร่วมกับ ศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในสังกัดคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ได้เชิญคณะสื่อมวลชนจาก 4 ชาติอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เดินทางไปยังนครปักกิ่ง เมืองหนานจิงในมณฑลเจียงซู รวมถึงเมืองฉางซาและเมืองซูโจว มณฑลหูหนาน เพื่อร่วมพบปะพูดคุยกับหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจของจีน ด้วยเป้าหมายที่จะตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน กับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมุ่งเน้นความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิตระหว่างประเทศ (International Production Capacity Cooperation) ขานรับ Belt and Road Initiative ตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

จีนเดินหน้าเต็มสูบ ผลักดันความร่วมมือด้านกำลังการผลิตกับนานาประเทศ

ในระหว่างการสัมมนาหัวข้อ "International Production Capacity Cooperation Policies" ที่นครปักกิ่ง จู ไฉ่หัว ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ และรองผู้อำนวยการสถาบันการค้าระหว่างประเทศ ในสังกัด Chinese Academy of International Trade and Economic Cooperation กระทรวงพาณิชย์จีน ได้กล่าวว่า Belt and Road Initiative สนับสนุนการพัฒนาที่ดีขึ้นในเอเชีย ผ่านทางเสาหลัก 2 ประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน และ ความร่วมมือด้านกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

ศาสตราจารย์จู กล่าวว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประมาณการว่า ในระหว่างปี 2559-2573 มูลค่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียจะแตะที่ระดับ 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดยการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า การขนส่ง และโทรคมนาคม

ทั้งนี้ ปัจจุบัน เงินทุนสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคเอเชียถึงประมาณ 92% นั้น มาจากภาครัฐ ขณะที่ธนาคารโลกและเอดีบีมีความเข้มงวดในการอนุมัติเงินกู้ให้กับโครงการต่างๆ อีกทั้งยังไม่เพียงพอกับความต้องการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย โดยสามารถจัดหาเงินทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียได้เพียงประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น ซึ่งจีนเล็งเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ และได้กรุยทางขึ้นมาเป็นผู้นำในการให้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ด้วยความได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่มีมาตรฐานอยู่ในระดับสูง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ซึ่งจีนเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้น และได้เริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559

ศาสตราจารย์จู ระบุว่า BRI คือรูปแบบใหม่ของความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเป็นโลกาภิวัตน์แบบที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม (Inclusive Globalization) แตกต่างจากโลกาภิวัตน์ในอดีตที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วขึ้นในโลก กล่าวคือ ประเทศพัฒนาแล้ว กับ ประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา ขณะที่การพัฒนาภายในประเทศนั้นก็กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองและในกลุ่มคนรวย โดยกระจายไปไม่ถึงชนบทและคนยากจน ซึ่งการแบ่งเป็นฝ่ายนี้มีสาเหตุหลักมาจากช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ อย่างไรก็ดี BRI จะนำเสนอโลกาภิวัตน์ในบริบทใหม่ (Re-globalization) ด้วยการเปิดกว้างรับความร่วมมือในการพัฒนาและเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

ในส่วนของความร่วมมือด้านกำลังการผลิตนั้น ศาสตราจารย์จูได้ชี้ให้เห็นว่า ในยุคปัจจุบัน การถ่ายโอนทางอุตสาหกรรม (Industrial Transfer) ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่อุตสาหกรรมต้องพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลัก ก็กลายมาเป็นอาศัยระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์กันมากขึ้น และจากในอดีตที่ประเทศอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็กลายมาเป็นจีนที่ผงาดขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ของโลก ร่วมกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในเอเชียที่ได้กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงหลายปีมานี้ เอเชียมีส่วนช่วยผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% และในการเติบโตของเอเชียนั้น มากกว่า 50% เป็นการขับเคลื่อนจากจีน ซึ่ง BRI ก็กำลังรองรับแนวโน้มความเจริญรุ่งเรื่องดังกล่าวของเอเชีย

ทั้งนี้ รูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน ได้รับแรงขับเคลื่อนจากทั้งการผลิตและการบริโภค จากเดิมที่พึ่งพาการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก และจากการที่จีนเผชิญกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน (Excess Capacity) ด้วยเหตุนี้ จีนจึงเริ่มถ่ายโอนกำลังการผลิตที่มากเกินความต้องการนี้ไปยังประเทศอื่นๆ ที่ยังขาดแคลนหรือมีการผลิตอยู่ในระดับต่ำ โดยภาคอุตสาหกรรมของจีนหันมาใช้ระบบอัตโนมัติกันมากขึ้น จึงมีการถ่ายโอนงานที่ยังต้องอาศัยแรงงานไปให้ประเทศอื่นๆ ที่ยังมีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า อย่างเช่น ลาว เวียดนาม และ อินเดีย เป็นต้น

มณฑลเจียงซู กับโอกาสการลงทุนของไทย

มณฑลเจียงซูเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคตะวันออกของจีน โดยมีมูลค่าจีดีพีและมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกมากเป็นอันดับที่ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง

สำหรับการค้ากับไทยนั้น ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนระบุว่า มูลค่าการค้าของมณฑลเจียงซูกับประเทศไทยในปี 2559 นั้น อยู่ที่ 7.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเจียงซูนำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 4.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทย 2.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 2.01 พันล้านดอลลาร์

สินค้าหลักที่มณฑลเจียงซูนำเข้าจากไทย ประกอบด้วย เครื่องจักรกล เครื่องจักรกลไฟฟ้า ผัก อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ ขณะที่สินค้าซึ่งทางมณฑลส่งออกไปไทย ได้แก่ เครื่องจักรกล เหล็ก/เหล็กกล้า เครื่องจักรกลไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์

ปัจจุบันมีธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในเจียงซูแล้วหลายราย ซี่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจจัดหาสินค้า และธุรกิจยานยนต์ ในทางกลับกัน เจียงซูเองก็เป็นมณฑลที่มีการลงทุนในไทยมากเป็นอันดับต้นๆ จึงมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนกับไทยต่อไป

คุณหัง อิ้วเฟย รองผู้อำนวยการ กองการต่างประเทศและการลงทุนต่างประเทศ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งมณฑลเจียงซู เปิดเผยว่า ในส่วนของการค้าการลงทุนกับประเทศไทยนั้น มณฑลเจียงซูมีโครงการร่วมกับไทย 11 โครงการ ทั้งที่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินการ และอยู่ระหว่างการเจรจา

หนึ่งในการลงทุนที่โดดเด่นคือ การลงทุนในภาคพลังงานใหม่ โดยจากการเปิดเผยของคุณหังนั้น บริษัท ทรินา โซลาร์ (Trina Solar) ผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเจียงซู เตรียมลงทุนเพิ่มเติมในไทย โดยที่ผ่านมา บริษัทผลิต PV ส่งมายังประเทศไทย แล้วไทยส่งออกต่อไปยังสหรัฐและประเทศในยุโรป อย่างไรก็ดี ทางบริษัทได้เริ่มดำเนินการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และมีแผนว่าจะย้ายทั้งซัพพลายเชนมายังประเทศไทยในอนาคต เพื่อเชื่อมโยงการผลิตอย่างครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมขั้นต้น (Upstream) ไปจนถึงอุตสาหกรรมขั้นปลาย (Downstream)

รถไฟจีน สู่ รถไฟอาเซียน

ในการเดินทางเยือนจีนของคณะสื่อมวลชนอาเซียนครั้งนี้ อุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นพระเอกของทริปนี้ คือ ภาคการรถไฟ เนื่องจากในบรรดาบริษัทที่คณะสื่อมวลชนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนนั้น หลายแห่งมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟหรือสถานีรถไฟ หนึ่งในนั้น ได้แก่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป จำกัด (CREC) บริษัทก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งจดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง โดยมีรัฐวิสาหกิจ China Railway Engineering Corporation (CRECG) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท

CREC ทำธุรกิจการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแบบครบวงจร (EPC) ตั้งแต่สำรวจ ออกแบบ เป็นที่ปรึกษาโครงการ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ทางรถไฟ สะพาน อุโมงค์ ท่าเรือ ทั้งยังผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ด้านวิศวกรรม รวมถึงพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย สำหรับในภาคการรถไฟนั้น บริษัทได้มีส่วนร่วมก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายสำคัญในจีน รวมเป็นระยะทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของระยะทางรถไฟในประเทศ นอกจากนี้ CREC ยังเป็นผู้นำด้านการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงอีกด้วย โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 55% ของระยะทางรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศจีน

นอกจากดำเนินธุรกิจในประเทศจีนแล้ว CREC ยังขยายธุรกิจไปยังกว่า 90 ประเทศทั่วโลก และได้มีส่วนร่วมในหลายโครงการในหลายภูมิภาคของโลก ซึ่งรวมถึง อาเซียน

สำหรับโครงการรถไฟอภิมหาเมกะโปรเจกต์ร่วมกับชาติอาเซียนนั้น ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง บันดาร์ มาเลเซีย (Bandar Malaysia) ซึ่งตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ด้วยงบลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเชื่อมระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย กับประเทศสิงคโปร์ รวมระยะทาง 400 กิโลเมตร ซึ่งจะร่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่าง 2 เมืองให้เหลือเพียง 90 นาที เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ตามแผนภายในปี 2569

อีกหนึ่งโครงการบิ๊ก คือ ทางรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัท CREC เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เชื่อมต่อกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ เข้ากับเมืองบันดุง เมืองใหญ่อันดับ 4 ด้วยระยะทางรวม 142 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายใน 3 ปี ซึ่งจะสามารถร่นระยะเวลาเดินทางระหว่าง 2 เมืองดังกล่าวเหลือเพียง 40 นาที จากเดิมถึง 3 ชั่วโมง สำหรับเทคโนโลยีและอุปกรณ์ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในโครงการนี้จะมาจากจีนทั้งหมด

ส่วนโครงการในประเทศไทยนั้น ผู้บริหารของ CREC ได้เปิดเผยว่า ล่าสุด ทางบริษัทเพิ่งได้มีการเซ็นสัญญาการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในระหว่างการประชุมกลุ่มผู้นำกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2560 ณ เมืองเซียะเหมิน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามโครงการความร่วมมือก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ทางผู้บริหารไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด

นอกจากนั้น บริษัทที่ถือว่ามีความโดดเด่นในแง่ของการลงทุนกับไทย และอาจกล่าวได้ว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านการรถไฟของไทยเช่นกัน คือ ซานี่ กรุ๊ป (Sany Group) ผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมหนักรายใหญ่อันดับ 1 ของจีน และติดท็อป 5 ของโลก โดยมีการดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในระหว่างการเดินทางเยือนเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน ชาวคณะได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่และโรงงานของบริษัทซานี่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตการลงทุนพิเศษนครฉางซา

ที่ผ่านมา ซานี่ได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเมื่อราว 2 ปีก่อน ด้วยเงินทุนจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องจักรหนักที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและเหมืองแร่ อาทิ รถยก รถบดถนน รถขุดเจาะ เครื่องทำคอนกรีต อุปกรณ์ก่อสร้างขนาดใหญ่ ฯลฯ นอกจากนี้ บริษัทยังใช้สำนักงานในไทยเป็นศูนย์กลางบริหารตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปพร้อมกันด้วย

ปัจจุบัน หนึ่งในโครงการใหญ่ล่าสุดที่บริษัทได้มีส่วนร่วม ได้แก่ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยบริษัทเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และเครื่องจักรในการก่อสร้าง สำหรับในอนาคตนั้น ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดเครื่องจักรอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญของอาเซียน โดยบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดรถเครนในไทยมากกว่า 60% และขึ้นแท่น 1 ใน 5 แบรนด์รถขุดที่มียอดขายสูงสุดในประเทศ ซานี่เล็งเห็นว่าโอกาสการพัฒนายังมีอีกมาก เนื่องจากประเทศไทยกำลังรุกเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางเบา และสถานีรถไฟ ซึ่งจะหนุนตลาดเครื่องจักรก่อสร้างให้โตขึ้นต่อไป

ทุนจีนหลั่งไหลเข้าสู่ มาเลเซีย-อินโดนีเซีย 2 จุดหมายปลายทางสำคัญบนเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21

จากการพบปะกับภาครัฐและธุรกิจของจีนในทริปนี้ ทำให้เห็นว่าตลาดอาเซียนที่โดดเด่นอย่างมากสำหรับนักลงทุนจีน คือ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย

ในบรรดา 10 ประเทศอาเซียน มาเลเซียมีมูลค่าการค้าขายกับจีนมากที่สุด โดยจีนแซงหน้าสิงคโปร์ขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของมาเลเซีย นับตั้งแต่ปี 2552 นอกจากนี้ จีนยังสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดโครงการก่อสร้างในประเทศมาเลเซียเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของโครงการก่อสร้างที่ดำเนินงานโดยบริษัทต่างชาติ ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนและมาเลเซียมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนอย่างแน่นแฟ้นนั้น เนื่องมาจากมาเลเซียมีประชากรเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับอินโดนีเซีย แม้จะยังมีปริมาณการค้าและการลงทุนกับจีนเป็นรองมาเลเซีย แต่ก็นับว่าขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยทุนจีนได้ทะลักเข้าสู่อินโดนีเซียอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องจากอินโดนีเซียมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับจีน ด้วยเหตุที่เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังมีจำนวนประชากรมากที่สุด โดยเฉพาะชาวมุสลิม และที่สำคัญคือ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมากมาย อย่างแร่ธาตุและพลังงาน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Nanjing Iron & Steel United Co., Ltd. (NISCO) ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ของจีน ที่ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนและนำเข้าแร่เหล็กจากอินโดนีเซีย บริษัท Wasion Group ผู้ผลิตมิเตอร์วัดค่าพลังงานไฟฟ้า ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังอินโดนีเซีย และเลือกอินโดนีเซียเป็นฐานการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน และบริษัท HNAC Technology Co., Ltd. ที่มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนและพลังงานน้ำหลายโครงการในอินโดนีเซีย

ด้านฟิลิปปินส์ แม้ปัญหาทะเลจีนใต้จะสร้างความบาดหมางขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์และจีน แต่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ซึ่งเปิดสัมพันธ์กับประเทศจีนมากขึ้น เมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านๆมา ก็ดูเหมือนสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจะเริ่มปรากฏเค้าลางในทิศทางที่ดีขึ้น และมีโอกาสที่บริษัทสัญชาติจีนจะเข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีดูเตอร์เตเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศอย่างเต็มที่

สรุปโดยภาพรวมแล้ว ประเทศจีนและอาเซียนเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อกัน โดยอาเซียนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของจีน ขณะที่จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียน มูลค่าการค้า 2 ฝ่าย สูงกว่า 4.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว และตัวเลขแตะที่ 2.77 แสนล้านดอลลาร์ในระหว่างเดือนม.ค.-ก.ค.ปีนี้ สำหรับสินค้าหลักที่จีนส่งออกให้กับอาเซียน ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรก่อสร้าง ตลอดจนเทคโนโลยีในสาขาพลังงานใหม่ รถไฟความเร็วสูง และสินค้าเกษตร ขณะที่ผู้บริโภคจีนนั้น ชื่นชอบอาหาร ของใช้ประจำวัน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่นำเข้าจากอาเซียน

ส่วนของการลงทุน ในระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย. ปีนี้ 12 ประเทศตามเส้นทางสายไหมใหม่ได้เซ็นสัญญาโครงการร่วมกับจีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง 7 ประเทศจากอาเซียน

จึงอาจกล่าวได้ว่า ทั้งสองฝ่ายกำลังเดินทางมาถึงช่วงเวลาสำคัญในการที่จะยกระดับความสัมพันธ์สู่ระดับที่สูงขึ้นต่อไป ในโอกาสที่จีนและอาเซียนเตรียมฉลองครบรอบ 15 ปีของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2561 ที่จะถึงนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ