Analysis: ตลาดการเงินอิตาลีปั่นป่วนในสัปดาห์นี้ หลังแบงก์ชาติออกโรงเตือนรัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณสูงเกินคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 19, 2019 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางอิตาลีประกาศเตือนว่า รัฐบาลอิตาลีอาจจะมียอดขาดดุลงบประมาณปี 2563 เพิ่มขึ้นเกินคาด ส่งผลให้ตลาดการเงินเผชิญกับความผันผวนในสัปดาห์นี้ และกระตุ้นให้รัฐมนตรีคลังอิตาลีออกมาแสดงความเห็น เพื่อคลายความวิตกในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก

  • ยอดขาดดุลงบประมาณสูงเกินคาด

ธนาคารกลางอิตาลีเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลอิตาลีในปีหน้า อาจเพิ่มขึ้นมากถึง 3.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หากรัฐบาลปฏิเสธที่จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ทั้งนี้ ยอดขาดดุลดังกล่าวสูงกว่าเป้าหมายที่ 2.1% ซึ่งกำหนดไว้ในงบประมาณปี 2563 ที่รัฐบาลอิตาลีเปิดเผยเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้ ธนาคารกลางอิตาลียังคาดว่า ยอดขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ 3.3% ของ GDP ในปี 2564 นอกเสียจากว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกินคาด หรือ อัตราภาษีเพิ่มขึ้น

การคาดการณ์ยอดขาดดุลงบประมาณทั้ง 2 ปีดังกล่าวของธนาคารกลางอิตาลีนั้น สูงกว่าระดับ 3.0% ที่กำหนดไว้ระยะ 3 ปีสำหรับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรป (EU)

ข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดต่างๆ ตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา โดยทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีประเภทอายุ 10 ปี พุ่งสูงถึง 2.65% ในตลาดรอง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเดือนนี้ และเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของอัตราผลตอบแทนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ โดยอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะทำให้อิตาลีมีต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น และจะทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วย

ฟรานเซสโก ดาเวรี นักเศรษฐศาสตร์มหภาค และ หัวหน้าโครงการบริหารธุรกิจของ เอสดีเอ บ็อกโคนี สคูล ออฟ แมเนจเมนต์ในมิลาน เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "แม้เป็นเพียงคำเตือน แต่แถลงการณ์จากธนาคารกลางอิตาลี ก็สร้างความวิตกให้กับบรรดานักลงทุนที่ยังจำได้เกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องงบประมาณของปีที่แล้ว"

  • การปฏิรูปโครงสร้างที่จำเป็น

ในปี 2561 อิตาลีขัดแย้งกับคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เกี่ยวกับระดับยอดขาดดุลในงบประมาณปีนี้ โดย EC เรียกร้องให้อิตาลีรักษาระดับยอดขาดดุลงบประมาณไว้ไม่เกิน 0.8% ของ GDP ขณะที่อิตาลีต้องการกำหนดยอดขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 2.4% ของ GDP

หลังการเจรจาต่อรองกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน 10 สัปดาห์ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเพิ่มระดับยอดขาดดุลเป็น 2.04% ของ GDP แม้การประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงจะบ่งชี้ว่า ยอดขาดดุลอาจอยู่ที่ระดับอย่างน้อยที่สุด 2.4% ของ GDP ตามที่อิตาลีเรียกร้องตั้งแต่ต้น

สื่อของยุโรปคาดการณ์ว่า ระดับยอดขาดดุลที่สูงเกินคาดในปีนี้ บ่งชี้ว่า EC จะดำเนินการที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับอิตาลีในการเจรจาเรื่องงบประมาณปี 2563 ในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ลูซิโอ โพมา นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเฟอร์รารา และผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของแผนกอุตสาหกรรมและนวัตกรรมของบริษัทโนมิสมา ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า "ยอดขาดดุลที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่สาเหตุของปัญหาคือ เศรษฐกิจไม่มีการขยายตัว"

เศรษฐกิจของอิตาลีหดตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และการทบทวนเป็นไปอย่างไร้ทิศทางว่า เศรษฐกิจอิตาลีจะขยายตัวเล็กน้อยหรือไม่ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยจะมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในเดือนนี้

"หากเศรษฐกิจขยายตัว ยอดขาดดุลจะลดลงเป็นเปอร์เซนต์ของเศรษฐกิจ" นายโพมากล่าวในการให้สัมภาษณ์ "นี่ไม่ใช่ปัญหาของผลกระทบทางการค้าหรืออัตราภาษี ไม่สามารถปรับลดงบประมาณลงได้มากกว่าที่เป็น แทบไม่เหลืออะไรให้ปรับลด อิตาลีจำเป็นต้องปฏิรูปด้านโครงสร้าง ซึ่งจะสามารถกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"

-- รัฐบาลยังคงยึดมั่นในคำสัญญา

นายจิโอวานนี เทรีย รมว.คลังอิตาลี ได้ออกมากล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อคลายความวิตกที่เกิดจากความเห็นของธนาคารกลางอิตาลี

นายเทรียกล่าวว่า รัฐบาลอิตาลีจะพิจารณาแนวทางต่างๆ เพื่อทำตามสัญญา ที่จะหลีกเลี่ยงการปรับขึ้น VAT ขณะที่รอทางเลือกอื่นๆ เพื่อมาแทนที่รายได้จากการเก็บภาษี

นายเทรียระบุในแถลงการณ์ว่า "เราจะประเมินมาตรการทางเลือก ทุกๆสิ่งที่เราทำจะต้องยืนยันความสอดคล้องกับเป้าหมายด้านงบประมาณ"

นายดาเวรีกล่าวว่า "โดยพื้นฐานแล้ว นายเทรียกำลังจะพูดว่า "เราต้องการที่จะหาทางหลีกเลี่ยงการขาดดุลงบประมาณ 3.4% ของ GDP โดยไม่ต้องปรับขึ้น VAT เพียงแต่เขา ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด"

ทั้งนี้ ตลาดการเงินแทบไม่ได้ขานรับความเห็นของนายเทรีย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีประเภทอายุ 10 ปี เริ่มปรับตัวลง แต่ก็พุ่งแตะระดับ 2.65% อีกครั้งก่อนปิดตลาดปรับตัวลงเล็กน้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ