คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวเมื่อวันจันทร์ (30 มิ.ย.) ว่า ความไม่แน่นอนจะยังคงเป็นลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจโลกต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้เงินเฟ้อมีความผันผวนมากขึ้น และจำเป็นที่ ECB จะต้องดำเนินมาตรการที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อรักษาระดับราคาให้อยู่ใกล้เคียงเป้าหมาย
ลาการ์ดอธิบายเพิ่มเติมในการประชุม ECB Forum on Central Banking ว่า สภาพแวดล้อมของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปโดยพื้นฐานในยุคหลังโควิด-19 โดยบริษัทต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนราคาเร็วขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนและภาวะอุปทานสะดุดเช่นตอนนี้
"โลกในภายภาคหน้ามีความไม่แน่นอนมากขึ้น และความไม่แน่นอนนั้นมีแนวโน้มจะทำให้เงินเฟ้อผันผวนมากขึ้น" ลาการ์ดกล่าว
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ECB ได้เปิดเผยยุทธศาสตร์ฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งสรุปว่า หากเงินเฟ้อเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมาย 2% อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำเกินไปก็ตาม ก็จำเป็นต้องมีนโยบายที่ "เข้มแข็งหรือต่อเนื่องอย่างเหมาะสม" เพื่อให้แน่ใจว่าการเติบโตของราคาจะกลับมาสู่เป้าหมาย
ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งตรงตามเป้าหมายของ ECB พอดี หลังจากที่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เงินเฟ้อเคยอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายมาตลอดแม้จะใช้มาตรการกระตุ้นมหาศาล และจากนั้นก็ได้พุ่งสูงเกินเป้าหมายไปมาก
แม้ ECB จะคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีกหลายปี แต่ลาการ์ดยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากพฤติกรรมการตั้งราคาของภาคธุรกิจได้เปลี่ยนไปแล้ว
"บริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสภาวการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านอุปทาน เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต" ลาการ์ดกล่าว
"พวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้กลยุทธ์การตั้งราคาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าราคาอาจไม่ได้ตอบสนองแค่ต่อปัญหาใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ และการหยุดชะงักในระดับท้องถิ่นด้วย"
อีกปัญหาหนึ่งคือ การปรับราคาอาจไม่เป็นเส้นตรง (non-linear) ซึ่งหมายความว่าเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นหรือชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วได้
ลาการ์ดชี้ว่า แนวทางรับมือความเสี่ยงดังกล่าวคือการดำเนินมาตรการที่เข้มแข็งตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งรวมถึงการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นจนส่งผลให้ต้องปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งการขึ้นค่าจ้างจะย้อนกลับมาเป็นต้นทุน และผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้นไปอีกเป็นวงจรไม่รู้จบ
ในทำนองเดียวกัน การจัดการกับภาวะเงินเฟ้อต่ำเกินไปตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดระยะเวลาที่ ECB ต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเป็นพิเศษ